10 หนังสือการ์ตูนในดวงใจ(ตลอดกาล)ของผม(2)

เพื่อไม่เป็นการเสียเวลามาต่อกันเลยครับกับ 10 หนังสือการ์ตูนในดวงใจ(ตลอดกาล)ของผม ซึ่งหลังจากจบหัวข้อนี้แล้วกระแสตอบรับดี อาจจะมี 10 สุดยอดภาพยนต์ในดวงใจ, 10 สุดยอดหนังสือในดวงใจ,100 สุดยอดดารา av ในดวงใจ(10 คนมันไม่พอครับ แฮะๆ),10 สุดยอดอะไรต่างๆตามมาภายหลัง ส่วนวันนี้มาต่อเลยครับ
อันดับ 4 slam dunk
slam dunk
ผมเชื่อว่าหลายๆคนชื่นชอบการ์ตูนเรื่องนี้อยู่ไม่น้อย ผมเองก็ชอบเรื่องนี้เอามากๆ แถมเพื่อนผู้หญิงหลายๆคนที่ผมรู้จักก็คลั่งใคล้ในตัวซากูรากิ ฮานามิจิ ซะเหลือเกิน เพราะถ้าให้เลือกตัวการ์ตูนชายที่ชื่นชอบที่สุดแล้วผมต้องเลือก ซากูรากิ ฮานามิจิ อย่างไม่ต้องสงสัย

โดยเฉพาะในเวอร์ชั่นทีวี ที่น้าต๋อย พากษ์เสียงนั้นผมยกให้เรื่องนี้เป็นการ์ตูนที่ตลกที่สุดเท่าที่เคยดูมาเลยครับ

อันดับ 3 จอมราชันย์อหังการ
จอมราชันย์อหังการ
นี่คือการ์ตูนเรื่องสุดท้ายที่ผมซื้อสะสม และต้องคอยเดินเช็คตามแผงตลอดว่าเมื่อไรเล่มใหม่จะออก เรื่องนี้ทำสามก็กออกมาชนิดไม่เหมือนใคร และไม่มีใครเหมือน ยอมรับว่าได้อารมณ์ประมาณถ่อย ดิบ เถื่อน เลยทีเดียว และถ้าจะให้บรรยายเกี่ยวกับการ์ตูนเรื่องนี้ก็ต้องบอกว่า เป็นการ์ตูนที่มีลายเส้นที่โดนใจผมสุดๆ แปลไทยได้ยอดเยี่ยม และผมชอบเคาทูจัง

อันดับ 2 จอมเก บลูส์
จอมเก บลูส์
เรียกได้ว่ากี่ยุคกี่สมัย จอมเก บลูส์ ก็เป็นที่ชื่นชอบของนักอ่านตลอด บลูส์เป็นการ์ตูนเรื่องยาวที่สุดที่ผมอ่านรวดเดียวจบ ใช้เวลาอ่านอยู่เกือบ 2 อาทิตย์ เรียกว่าอ่านทุกที่ ทุกจังหวะที่มีโอกาสเลยทีเดียว ผมว่านี่เป็นมาสเตอร์พีชของ มาซาโนริ โมริตะเขาเลย บลูส์นั้นลงตัวในทุกๆอย่าง แม้จะมีการเสนอบางฉากบางตอนที่มีความรุนแรง แต่เมื่ออ่านแล้วกับให้อะไรแฝงกลับมามากกว่า แต่อดสงสัยไม่ได้ว่าทำไมจิอากิจังถึงได้ร้องไห้บ่อยจัง อืมๆๆ

และแล้วก็มาถึงอันดับ 1 คือ Cobra เห่าไฟสายฟ้า นั่นเอง
Cobra เห่าไฟสายฟ้า
ผมว่านี่คือสุดขอบของจินตนาการที่เด็กๆจะไฝ่ฝันถึงได้ ทุกตัวละคร ทุกไอเดียของการ์ตูนเรื่องนี้นั้นสุดยอดไปเลยจริงๆ(อยากบอกว่าผมอยากมี Psycho-gun เหมือนคอบร้าจัง)คอบร้์าเขียนขึ้นมาหลายสิบปีแล้ว แต่ก็ยังล้ำสมัยอยู่ ไม่รู้ว่าคนเขียนคิดได้ไง เอาเป็นว่าผมชอบทุกฉาก ทุกตอน หรือทุกสิ่งที่ปรากฎในการ์ตูนเรื่องนี้(ยกเว้นบั้นท้ายสาวๆ จริงๆนะ) แต่อดเสียดายไม่ได้ว่าเนื้อเรื่องนั้นจบห้วนไปนิด แม้จะมีตอนพิเศษออกมาหลายตอน แต่ความรู้สึกหลายอย่างมันก็ยังค้างคาใจอยู่ดี แต่ถ้าคิดในอีกแง่มุมนึงก็อาจเป็นว่า อ.บูอิจิ เทราซาวะ อาจต้องการให้ คอบร้า นั้นเป็นอมตะตลอดไปในหัวใจคนอ่านเหมือนกับสมญานามของเขาที่ว่า "บุรุษอมตะผู้ไม่มีวันตาย"ก็เป็นได้
จบแล้วครับ ถ้าเพื่อนๆคนไหนมีการ์ตูนเรื่องใดที่ชื่นชอบเป็นพิเศษก็มาแชร์กันได้นะครับ
และติดตามบทความภาคเต็มของ คอบร้าได้ในคราวต่อไปครับ

10 หนังสือการ์ตูนในดวงใจ(ตลอดกาล)ของผม(1)

วันก่อนผมได้มีโอกาสอ่าน blog ของเพื่อนคนหนึ่ง ซึ่งเป็นคนที่บ้าหนัง และชอบอ่านหนังสือเป็นอันมาก ซึ่งเขาได้รวบรวมหนัง และหนังสือที่ชอบอ่านที่สุดในขณะนี้มา ซึ่งผมเองอ่านแล้วก็นึกไ่ปว่าแล้วตัวเองละมีหนัง หรือหนังสือที่ชอบที่สุด หรือติดตามอ่านอยู่ตอนนี้กับเขาบ้างหรือไม่ คำตอบก็คือหนังสือที่ผมติดตามอ่านอยู่นั้น หลังจากที่การ์ตูนเรื่องจอมราชันย์อหังการจบไป นอกจากหนังสือพิมพ์แล้วผมไม่ได้เกาะติดหนังสือหรือนิตยสารเล่มไหนเป็นพิเศษเลย..โอ แต่ไม่เป็นไรยังไงผมก็มีหนัง และหนังสือที่ผมชอบอยู่ แต่ว่าวันนี้จะเขียนเกี่ยวกับ 10 หนังสือการ์ตูนในดวงใจ(ตลอดกาล)ของผม ซึ่งรสนิยมของผมจะเหมือนเพื่อนๆบ้างหรือเปล่ามาดูกัน

อันดับ 10 หมัดเทพเจ้าดาวเหนือ

เรื่องราวการต่อสู้ของเคนชิโร่ และสหายร่วมทาง ซึ่งใช้ชื่อในภาษาญี่ปุ่นชื่อว่า (Hokuto no Ken) เป็นผลงานการแต่งเรื่องของ "บุรอนซอน" และเขียนภาพโดย "ฮาระ เท็ตสึโอะ" เริ่มตีพิมพ์ในปี 1983 และตีพิมพ์ในไทยมีทั้งหมด 27 เล่มจบ ผมเช่า(เช่านะครับ ไม่ใช่ซื้อ)การ์ตูนมาอ่านเมื่อหลายปีที่แล้ว และก็ติดงอมแงมในทันที จากที่ปกติเข้าร้านเช่าการ์ตูนจะเช่าประมาณ3-4เล่ม แต่สำหรับเรื่องนี้ ผมเช่าครั้งละ 8 เล่ม(ซึ่งเป็นลิมิตที่ทางร้านตั้งไว้)เรียกว่าอ่านตั้งแต่เช้าถึงเย็นเลยทีเดียว เสน่ห์ของการ์ตูนเรื่องนี้คือ วาดได้สมจริงมาก ทั้งกล้ามเนื้อของตัวละคร ฉากการต่อสู้ต่างๆ ซึ่งถ้ามีโอกาสผมก็จะหามาอ่านอีกครั้ง

อันดับ 9 ชินจังจอมแก่น

ก่อนอื่นต้องขอแสงความเสียใจอย่างสุดซึ้งกับการจากไปของ อ.โยชิโตะ อุสึอิ ผู้เขียนชินจัง จอมแก่นด้วยครับ การ์ตูนเรื่องนี้ผมว่าต้องยกเครดิตให้กับผู้แต่งเต็มๆครับ ในการสร้างสรรค์บุคลิกลักษณะให้ตัวละครได้เยี่ยมมากๆ ทั้งตัว ชินโนซึเกะ เอง แม่,พ่อ,ครู,หรือแม้แต่เพื่อนๆ ของชินจัง แต่ละคนล้วนมีลักษณะเฉพาะตัว ซึ่งผู้เขียนก็นำบุคลิกเหล่านั้นมาสรรค์สร้างเป็นมุขตลกได้อย่างเจ็บแสบจริงๆ แม้จะออกแนวทะลึ่งเป็นส่วนใหญ่ แต่ก็เพราะคอนเซ็ปนี้ที่ทำให้ชินจังเป็นที่รักของนักอ่านทุกคน

อันดับ 8 rookies มืใหม่ไฟแรง

ไม่ต้องมีคำบรรยายใดๆมากกับผลงานของ มาซาโนริ โมริตะ ผู้วาดจอมเก บลูส์ ทั้งฝีมือ และแนวทางการเขียน รวมทั้งมุกตลก มาซาโนริ โมริตะ ไม่เป็นสองรองใครเลยจริงๆ สิ่งเดียวที่นึกถึงเมื่ออ่านการ์ตูนเรื่องนี้คือ น่าจะมีการ์ตูนแบบนี้ที่เป็นของนักเขียนไทยมั่ง

อันดับ 7 Death Note

ไม่ว่าจะในรูปแบบหนังสือ แอนิเมชั่น หรือภาพยนต์ Death Note ล้วนทำได้ดี ตอนแรกผมไม่คิดอ่านการ์ตูนเรื่องนี้ เพราะรู้สึกว่ามันดังมากตอนออกมาเป็นหนัง

ซึ่งผมคิดเอาเองว่าเป็นเพราะพระเอกหล่อ และกระแสที่คลั่งเกาหลี-ญี่ปุ่นที่ทำให้หนังดัง จนเวลาผ่านไปเนิ่นนาน มีเพื่อนที่ทำงานให้แผ่นแอนิเมชั่นเรื่องนี้มาดู ปรากฏว่าสนุกอย่างไม่น่าเชื่อ หลังจากนั้นไม่ว่าจะหนัง,หนังสือการ์ตูน,ผมตามสอยเรียบ ไม่พอยังไปซื้อตัว figure มาสะสมอีกต่างหาก

อันดับ 6 โรงเรียนลูกผู้ชาย

สำหรับการ์ตูนเรื่องนี้ผมว่าเด็กผู้ชายแทบทุกคนต้องเคยอ่านมาแล้ว ซึ่งผมเองก็อ่านเมื่อนานมาแล้ว(เหมือนจะแก่ยังไงไม่รู้)ยังจำได้ดีกับฉากเลือดสาด แผลเต็มตัว เสื้อผ้า(หรืออะไรก็ตามที่ใส่มา)ขาดรุ่งริ่งแต่ไม่ตาย และจำไว้เสมอว่าผู้ที่กำลังจะแพ้ หรือกำลังจะถูกฆ่าตายนั้นในท้ายที่สุดจะเป็นผู้ชนะเสมอ

อันดับ 5 Solar Lord

เป็นการ์ตูนของทางฝั่งฮ่องกง ซึ่งเป็นผลงานของ อ.ชิวฝูหลง(Khoo Fuk-Lung) ผู้ซึ่งมีลายเส้นคุ้นตาเพราะการ์ตูนจากฮ่องกงส่วนใหญ่ล้วนเป็นฝีมือแก(และอีกคนอย่าง อ.Tony Wong หรือว่าหวงยี่หลาง)ซึ่งเป็น 2 ปรมาจารย์เลยก็ว่าได้ ซึ่งมีนักเขียนใหม่ๆยึดถือแนวทางและวาดลายเส้นแบบนี้ออกมากันเป็นจำนวนมาก สำหรับ Solar Lord จะออกแนวแฟนตาซี ผสมกับการต่อสู้แบบเทพประยุทย์ ตัวเอกของเรื่องอย่าง ซีน(น้องของซีอุส)จะเป็นเทพอสูรผู้มีอารมณ์เกรี้ยวกราด ซึ่งยิ่งสู้ก็ยิ่งเก่ง จนถึงขนาดว่าตอนจบสามารถชนะได้แม้กระทั่งผู้ที่อยู่ลำดับบนสุดของความชั่วร้ายทั้งมวลอย่างซาตานเลยทีเดียว
รู้สึกว่านั่งพิมพ์จนปวดหลังแล้ว เอาเป็นว่ามาต่อกันอีกทีสำหรับ 5 อันดับแรกหนังสือการ์ตูนในดวงใจ(ตลอดกาล)ของผม กันวันหลังแล้วกันนะครับพี่น้อง วันนี้ขอนอนก่อน

เสื้อยืดไอเดียเฉี่ยว อารมณ์ย้อนยุคขวัญใจเด็กแนว

โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์

ซูริค ประดิษฐ์สุวรรณ์
อดีตทำคนนิตยสารแจกฟรี และฝ่ายจัดหาสื่อโฆษณาให้กับนิตยสาร ซึ่งงานทุกอย่างที่ผ่านมาล้วนแล้วแต่หนีไม่พ้นในเรื่องงานออกแบบดีไซน์ ด้านกราฟิก ทั้งการออกแบบเว็บไซต์ แพคเกจ ซึ่งในช่วงหนึ่งได้ทำงานให้กับบริษัทด้านแพคเกจจิ้ง จนกระทั่งตัดสินใจเลิกเป็นมนุษย์เงินเดือน หันมาเอาดีทางด้านการทำเสื้อยืดเน้นรูปแบบที่ออกแบบเองทั้งหมด มีเอกลักษณ์ไม่ซ้ำใคร วางขายย่านท่าพระจันทร์ พร้อมตั้งชื่อร้านไว้เก๋ๆ ว่า “ลืมไม่ลง”

ซูริค ประดิษฐ์สุวรรณ์ เจ้าของร้านเสื้อยืดท่าพระจันทร์ลืมไม่ลง บอกว่า ตนเองเรียนจบมาทางด้านจิตรกรรมไทย และก้าวเข้าสู่การเป็นลูกจ้างให้ธุรกิจสื่อสิ่งพิมพ์ กับนิตยสารแจกฟรีด้านกีฬากอล์ฟ เมื่อ 2545 แต่ทำได้เพียง 2 ปี บริษัทต้องปิดตัวลงเนื่องจากไม่สามารถแบกรับภาวะการขาดทุนได้ หันมาทำนิตยสารด้านการท่องเที่ยว พร้อมกับทำงานด้านการออกแบบเว็บไซต์ ทำอาร์ตเวิร์ก รวมถึงบริษัทรับออกแบบด้านแพคเกจจิ้ง โดยงานที่ผ่านมาตนเองจะทำงานในด้านที่ต้องเกี่ยวข้องกับงานดีไซต์เป็นส่วนใหญ่

“งานที่เราทำมาได้ระยะหนึ่งนั้น ก็รู้สึกเบื่อ เพราะบางครั้งต้องออกแบบตามที่ลูกค้าต้องการ ทั้งๆ ที่ในบางอารมณ์อยากที่จะออกแบบผลงานของตนเองและเป็นที่ชื่นชอบของลูกค้าบ้าง จนกระทั่งมีรุ่นพี่เรียนมาในด้านเดียวกันได้มาเช่าร้านเล็กๆ บริเวณท่าพระจันทร์ เพื่อขายเสื้อยืด ซึ่งรุ่นพี่มีความเชี่ยวชาญด้านการออกแบบแพทเทอร์น ไม่เน้นงานออกแบบ จึงคิดทำเสื้อยืดมาฝากขาย โดยเน้นที่คุณภาพของเนื้อผ้า และการออกแบบที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว”

แม้ในช่วงแรกจากผู้ที่ไม่เคยต้องมาบริหารธุรกิจ ต้องมาดูเรื่องต้นทุนการผลิต การคิดคำนวณการวางแพทเทอร์ขนาดเสื้อยืดให้เหลือเศษผ้าจากการตัดเย็บให้มากที่สุดถือเป็นเรื่องยากสำหรับผู้ที่ทำงานด้านกราฟิกดีไซน์มานานหลายปี แต่เมื่อได้เห็นผลงานของตนเอง มีลูกค้าซื้อไปสวมใส่ ก็กลายเป็นแรงผลักดันให้มุ่งมั่นดำเนินธุรกิจนี้อย่างจริงจัง จนกระทั่งธุรกิจเริ่มอยู่ตัว จึงตัดสินใจออกจากงานประจำในที่สุด พร้อมทั้งขอเซ้งร้านต่อจากรุ่นพี่

เสื้อท่าพระจันทร์ขวัญใจนักศึกษา


“เราเลือกที่จะทิ้งงานประจำทั้งๆ ที่งานเดิมก็ค่อนข้างมั่นคง แต่เลือกความเหนื่อยที่มากกว่า รายได้น้อยกว่า แต่มีความสุขมากขึ้น หลังจากที่ได้ออกแบบเสื้อยืดได้โดนใจลูกค้า ทั้งกลุ่มวัยรุ่น ผู้ใหญ่ และชาวต่างชาติ ทั้งๆ ที่เป็นงานไทยๆ ย้อนยุคเล็กน้อย เช่น เสื้อยืดสุรพล สมบัติเจริญ เน้นการใช้ตัวอักษรในสมัยก่อน และสีสันที่ฉูดฉาดแต่ดูดี โดนใจกลุ่มลูกค้าผู้ใหญ่ ในขณะที่เสื้อยืดโดนใจวัยรุ่น คนวัยทำงาน นักเรียนนักศึกษาเช่น เสื้อยืดท่าพระจันทร์ เอาใจผู้คนที่สัญจรไปมาย่านท่าพระจันทร์ และนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดยจะใช้ตัวอักษรแบบคลาสสิก ซึ่งบางคนสะสมเป็นคอลเลคชั่น เมื่อมีรูปแบบใหม่ๆ ก็จะซื้อไปอยู่เสมอ แต่หากได้มีโอกาสขยายสาขาไปในสถานที่อื่นๆ อีก ก็จะออกแบบเสื้อยืดให้ตรงกับท้องถิ่นนั้นๆ”

ความสำเร็จดังกล่าว ที่วัดจากจำนวนลูกค้าที่เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ อาศัยการบอกปากต่อปากของลูกค้า ทำให้ปัจจุบันร้านลืมไม่ลง มีเสื้อยืดรวมกว่า 80 ลายแล้ว โดยภายในระยะเวลา 1 เดือน จะออกแบบใหม่ประมาณ 2 ลาย เน้นขนาดเสื้อสำหรับคนตัวไม่ใหญ่มากนัก โดยมีขนาด S,M และ L ส่วนขนาดใหญ่จะไม่ค่อยมี เพราะเมื่อคำนวณต้นทุนการผลิตแล้วไม่คุ้ม เพราะทางร้านขายในราคาเท่ากันทุกขนาด แต่ซูริค ก็หาทางออกให้กับลูกค้าที่ต้องการเสื้อยืดขนาดใหญ่ ก็จะให้ลูกค้านำเสื้อยืดสีขาวมาเอง แล้วทางร้านจะสกรีนลวดลายตามที่ต้องการให้ โดยคิดราคาในส่วนของการสกรีนเท่านั้น โดยราคาเสื้อยืดเริ่มต้นที่ตัวละ 180 บาท พร้อมทั้งรับออกแบบโลโก้ เสื้อยืดใช้ในงานกีฬา ก็มีให้บริการ

สำหรับแผนธุรกิจในอนาคตซูริค บอกว่า จะผลิตกระเป๋าผ้า ผ้าพันคอที่ทำจากผ้าขาวม้าอย่างนิ่ม มาทำขายบ้างเพื่อให้สินค้าภายในร้านมีความหลากหลายมากขึ้น แต่ทุกอย่างในร้านต้องอยู่ภายใต้คอนเซ็ปต์เดียวกัน ที่ซูริค ออกแบบเองทั้งหมด เพื่อลดความเสี่ยงในด้านการแข่งขัน แม้ว่าจะไม่มีคู่แข่ง เนื่องจากสินค้ามีความแตกต่างจากตามท้องตลาด และให้เหมาะสมกับชื่อร้าน “ลืมไม่ลง” กับเสื้อยืดที่มีเอกลักษณ์โดดเด่นไม่ซ้ำใคร

สนใจติดต่อ 08-7702-2188
ขอบคุณข้อมูลจาก
โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์

เจ้าของรางวัลชนะเลิศ Gold Award 'จักรพันธ์ ห้วยเพชร'

โดย : พรชัย จันทโสก
เจ้าของรางวัลชนะเลิศ Gold Award จากเวทีการประกวดการ์ตูนนานาชาติ ครั้งที่ 3 ที่จัดขึ้น ณ กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น
"เราทำในสิ่งที่เรารักและสิ่งที่เรารักมันดันเราขึ้นไปในสิ่งที่เราใฝ่ฝัน เหมือนกับว่าโอ้โห..มันเป็นเรื่องจริงเหรอนี่ วันนั้นพอรู้ข่าวว่าได้รับรางวัลมันเหมือนมีความสุขที่สุดในชีวิต"

เมื่อเดือนธันวาคมของที่ผ่านมาน่าจะเป็นข่าวดีสำหรับเด็กๆ ที่เป็นแฟนการ์ตูนเรื่อง Super Dunker สตรีทบอลสะท้านฟ้า ผลงานของ จักรพันธ์ ห้วยเพชร นักเขียนการ์ตูนหนุ่มวัย 31 ปีจากเมืองพัทยา หลังการ์ตูนกีฬาเล่มโปรดของหลายๆ คน ได้รับรางวัลชนะเลิศ Gold Award จากการประกวด The Third International MANGA Award หรือรางวัลการประกวดการ์ตูนนานาชาติ ครั้งที่ 3 ที่จัดขึ้น ณ กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น


'จุดประกายวรรณกรรม' ฉบับเทศกาลวันเด็กแห่งชาติ 2553 ขอเอาใจเด็กๆ ด้วยการพูดคุยถึงเส้นทางกว่าจะเป็นนักเขียนการ์ตูนของ จักรพันธ์ ห้วยเพชร ทั้งในแง่ของชีวิต มุมมองความคิด และผลงานของเขาที่สร้างชื่อเสียงให้กับวงการการ์ตูนไทย

0 จำได้ไหมว่าตัวเองรู้สึกชอบการ์ตูนเอามากๆตอนไหน?

ตั้งแต่เด็กๆ ผมชอบดูการ์ตูนโทรทัศน์ ตอนนั้นยังไม่อ่านการ์ตูนเลย คือยังเป็นเด็กอนุบาล ชอบดู 'ไอ้มดแดง' เพราะบ้าแปลงร่าง แต่มาอ่านการ์ตูนจริงๆ จังๆ ยุคช่วง 'ดราก้อนบอล' พอดูเสร็จก็มานั่งวาด ผมคิดว่าเด็กทุกคนคงเป็น พอดูเสร็จแล้วก็จำมาวาด พอมีเพื่อนมาดูแล้วชอบกัน เขาบอกวาดอีกๆ วาดให้มั่ง ผมเหมือนบ้ายอบ้ายุเลยวาดไปเรื่อย เหมือนเด็กบ้า พอชอบอะไรแล้วเหมือนจงรักภักดีและชอบอยู่อย่างเดียว ตอนนั้นแทบไม่มองเรื่องอะไรเลย บ้าดราก้อนบอลอย่างเดียว ทั้งดูทั้งอ่านการ์ตูนดราก้อนบอลอย่างเดียวเลย แต่พอตอนหลังมีการ์ตูนหลายๆ เรื่องเข้ามาอย่าง 'เซนต์เซย์ย่า' หลังจากนั้นสะสมการ์ตูนมาเรื่อยๆ และวาดมาตลอด จนในห้องเรียนเขาเรียนหนังสือกัน แต่ผมนั่งวาดการ์ตูน (หัวเราะ) กลายเป็นเด็กหลังห้องที่ไม่มีใครมายุ่ง โดยเฉพาะวิชาภาษาอังกฤษทุกหน้าจะเป็นการ์ตูนเต็มไปหมด
0 เคยไปเรียนเขียนการ์ตูนไหมหรือว่าฝึกด้วยตัวเอง?

ส่วนตัวผมฝึกเองนะ เพราะว่ามันไม่มีที่ไหนให้ไปเรียน แต่สมัยนี้ค่อนข้างดี ถึงไม่มีในหลักสูตร แต่ว่ามันมีคอร์สต่างๆ ขึ้นมาเยอะ แต่ก่อนนี้ทำเองตลอด ฝึกเอง สังเกตเองทุกอย่าง โอ้โห...ผมเป็นคนที่อ่านการ์ตูนนานมากเพราะว่าผมไม่ได้อ่านแค่เนื้อเรื่อง กว่าจะผ่านไปหน้าหนึ่งใช้เวลานานมากเลย เพื่อนมันบอกมึงจะอ่านอะไรนักหนา เพื่อนอ่านตอนหนึ่งแค่สองสามนาทีเสร็จแล้ว แต่ผมอ่านเป็นครึ่งชั่วโมง อ่านแล้วอ่านอีก เปิดแล้วเปิดอีก มันเป็นของมันเอง เหมือนกับว่าสมองมันสั่งการให้จำตรงนี้นะ ให้สังเกตนะ ผมคิดว่าถ้าใครชอบวาดการ์ตูนแล้วไม่มีเปิดผ่านหรอก จะต้องกลับมาดูเทคนิค ผมยังงงว่าบางคนอ่าน 20 เล่มวันหนึ่งจบ บ้าหรือเปล่า อ่านไปได้ยังไง ผมอ่านเป็นเดือนกว่าจะจบ ยิ่งถ้าเป็นการ์ตูนที่เกิดว่าเราชอบจะไม่ให้ผ่านง่ายๆ

0 เรียนโฆษณามาแต่ทำไมถึงอยากเป็นนักเขียนการ์ตูน?

ตอนนั้นไม่รู้ว่าเป็นเพราะอะไร อีกอย่างวิชาที่เรียนโฆษณามันยิ่งเรียนยิ่งรู้ ผมไม่ได้ด่าคนในวงการนี้นะ คือพอยิ่งเรียนผมยิ่งรู้ว่าวงการนี้เป็นแบบนี้ ลักษณะคนมันเป็นแบบนี้ ลักษณะของอาชีพนี้มันจะต้องเป็นแบบนี้ คือแก่งแย่งชิงดี อวด คุย โม้ อันนี้เป็นเรื่องจริงนะ ผมเจอเพื่อนผมมาตั้งหลายคน บางทีมันไม่ได้เก่งจริง แต่มันข่มกูอยู่นั่นแหละ ผมมองๆ แล้วไม่ชอบ ไม่ชอบวงจรนี้ ไม่ชอบวงจรชีวิตการทำงานแบบงานโฆษณา ยังไงผมก็ไม่เอา แต่มันเรียนมาแล้วไง แต่ว่ามันก็ดีเพราะมีหลายวิชาที่เอามาใช้ในการ์ตูนได้เหมือนกัน ตัดสินใจแล้วผมก็มุ่งเลยว่าจะเขียนการ์ตูนและ Thesis ก็จะทำการ์ตูน พอให้ไปฝึกงานปุ๊บ ผมไปฝึกที่ไทยคอมมิคเลย

0 ผลงานตอนนี้มีเรื่องอะไรบ้าง?

เรื่อง 'ชาวนากับงูเห่า' แต่ว่ามาเปลี่ยนชื่อเรื่องเป็น 'The farmer man' ทำที่สำนักพิมพ์วิบูลย์กิจ พิมพ์ออกมาสองเล่ม หลังจากนั้นมีการ์ตูนจากภาพยนตร์ของสหมงคลฟิล์มเรื่อง '7 ประจัญบาน' ภาค 2 ให้ 7 คนมาเขียนคนละคาแรคเตอร์เลย เล่มเดียวจบ และมีเขียนเรื่องเป็นเกมจากเกาหลี ตอนนั้นเกมออนไลน์กำลังบูมมาก 3 เล่มจบ หลังจากนั้นออกจากวิบูลย์กิจมาทำงานที่สำนักพิมพ์บันลือสาส์น เข้ามาที่นี่เรื่องแรกที่ทำคือ Super Dunker เลย

0 แรงบันดาลใจของการ์ตูนเรื่องนี้มาจากไหน?

ผมเหมือนลอยทะเลอยู่ปีหนึ่ง พอออกจากวิบูลย์กิจก็เหมือนกับว่าคว้างอยู่ ไม่ได้ทำอะไรเลย แต่ว่าเราอยู่ในวงการแล้วไง รู้จักทุกคนแล้ว รู้จักทั้งรุ่นพี่ รุ่นใหญ่ รุ่นอา เพราะพอเข้ามาในวงการนี้มันไม่ใช่ว่าจะอยู่บ้านเขียนการ์ตูนอย่างเดียว นักเขียนมันมีการทำกิจกรรมกันบ้าง ช่วงที่ผมคว้างอยู่ก็มีโอกาสได้ไปสอนและได้รู้จักนักเขียนการ์ตูนหลายๆ คน และได้รู้จักพี่ขวด ขายหัวเราะ พี่ขวดแนะนำมาที่บันลือสาส์นดูเพราะทางพี่นก-โชติกา อุตสาหจิต รองประธานกลุ่มบริษัท บันลือกรุ๊ป ก็อยากจะหาตลาดใหม่ๆ แต่ว่ายังหานักเขียนไม่ได้เลย ผมลองไปดูจากการชักนำของพี่ขวด

ผมได้เข้าไปลองงานเป็นฟรีแลนซ์ก่อน เหมือนกับว่าให้ผมไปเขียนอย่างอื่น ผมทำไม่ได้ไง พยายามแล้วแต่มันไม่ได้ เขาคงคิดว่ามันคงผลุนไม่ขึ้นถ้าให้ไปเขียนอย่างอื่น ลองทำสไตล์ของตัวเอง ตอนนั้นคุยกันพี่นกบอกว่าอยากให้เขียนเป็นคอมมิคสไตล์เรา จะเอาลง 'มหาสนุก' ผมคิดว่าเขาพูดเล่นเพราะลงมหาสนุกมันเรื่องใหญ่เลยนะ เพราะการ์ตูนของมหาสนุกมันไม่มีการ์ตูนแนวนี้เลย ไม่มีออกแนวมังงะ-คอมมิคอย่างนี้ มันเป็นการ์ตูนแก๊กหรือว่าเป็นการ์ตูนสไตล์เล่าเรื่องคนละแบบ คิดว่าคงพูดเล่น พี่นกบอกให้ลองไปคิดดู ผมกก็คิดไม่ออก ตอนนั้นมันหยุดไปนานมันคว้าง หัวสมองมันกลวงมาก เหมือนกับว่าชีวิตนี้ไม่อยากทำอะไรแล้ว มันเซ็งๆ กลวงๆ

พอได้ไปคุยกับพี่นกบอกว่าทำไมไม่ลองทำการ์ตูนกีฬาดู ชอบกีฬาอะไร ผมบอกผมชอบบาสเก็ตบอลเพราะผมเล่นบาสมาตั้งแต่เด็กๆ เขาบอกว่างั้นเธอเขียนบาสเลย ผมบอกเอาจริงเหรอพี่ เขาบอกทำเลยเธอจะมาช้าอะไร ตอนนั้นผมเริ่มคิดเรื่องแล้ว คิดเรื่องเกี่ยวกับบาสเกตบอล แต่การที่เราหยุดไปนานมันมีปัญหาเหมือนคิดช้า ทำอะไรไม่ออก จุดเริ่มต้นมันไม่มี และยังไม่คิดว่าพี่เขาจะเอาลงมหาสนุกจริงๆ ผมคิดว่าเขาพูดเพื่อให้กำลังใจเรา ซึ่งอย่างที่บอกสำหรับผมมันไม่ใช่เรื่องเล่นๆ ลงมหาสนุกมันเป็นเรื่องใหญ่เพราะของเราเป็นแนวใหม่ เขาจะยอมหรือเปล่า ถึงจะได้เนื้อเรื่องแล้วมันยังลอยอยู่ในหัวว่าจะทำยังไงดีให้สนุก โชคดีว่าผมได้พี่ๆ ช่วย

0 พอนักเขียนมาอยู่ด้วยกันไอเดียมันพรั่งพรูออกมาอย่างไม่รู้ตัว?

จากที่เราตันๆ มานานมันเหมือนเปิดก๊อกแล้วมันไหลชนิดไม่หยุดเลย คราวนี้ผมหยุดตัวเองไม่อยู่เลย พอไปคุยกับพี่นก ผมเล่าไปเลยว่าเนื้อเรื่องคือมีพ่อลูกสองคนติดเกาะอยู่ คราวนี้เหมือนกับว่ามันมีนักบาสเอ็นบีเอเพิ่งชนะการแข่งขันแล้วอยู่ดีๆ เครื่องบินตกลงมาที่เกาะ และเด็กสองพ่อลูกช่วยเอาไว้ หลังจากนั้นนักบาสเอ็นบีเอกลับบ้านไม่ได้เลยต้องมาช่วยสอนเด็กคนนี้เล่นบาส ถึงจะคุยกันไม่รู้เรื่องเลยเพราะว่ามันคุยกันคนละภาษา แต่ว่ากีฬามันทำให้สองคนนี้มันจูนเข้ากันได้ สื่อสารกันด้วยกีฬา ภาษากีฬา พอเขาฟังแล้วบอกว่ามันก็สนุกดีเนาะ เอองั้นทำเลย เขียนเสร็จจะเอาลงมหาสนุกเลย นี่เล่าเพียงแค่ตอนเดียว ถึงตอนนั้นผมก็ยังไม่เชื่อว่าการ์ตูนผมจะได้ลงมหาสนุก คือในใจผมคือไม่คิดว่าพี่นกเขาจะเอาลงมหาสนุกจริงๆ มันเป็นเรื่องใหญ่มาก

0 เรื่องนี้ต้องการจะบอกว่ากีฬาเสมือนเป็นสื่อสร้างมิตรภาพ?

ตรงนี้มันเป็นจุดสำคัญอย่างหนึ่งซึ่งผมอยากจะบอกคนอ่านว่าถึงเราจะคุยกันไม่รู้เรื่อง แต่มันมีภาษาอยู่สองอย่างที่ทั่วโลกคุยกันได้ก็คือ 'ดนตรี' กับ 'กีฬา' เอาอย่างบาสเราไปแข่งกับชาติไหนก็แล้วแต่มันอยู่บนพื้นฐานกติกาเดียวกัน มันเล่นด้วยกัน ส่วนหนึ่งเอามาจากตัวผมเหมือนกันเพราะช่วงที่อยู่พัทยาผมไปเล่นบาส ผมไปเล่นแต่กับฝรั่ง มันไม่ค่อยมีคนไทย ผมไปเล่นในฟิตเนสซึ่งคนไทยเขาจะไปเล่นอีกที่หนึ่งซึ่งมันไกลจากบ้านผม ผมเลยเล่นในฟิตเนสใกล้บ้าน และที่ผมเล่นผมเจอแต่ฝรั่ง ผมพูดกับมันไม่รู้เรื่องเลย มันมีทั้งฝรั่งเศส เยอรมัน อเมริกามาเล่น เขาก็พยายามจะคุยกับผม ผมคุยกับมันไม่รู้เรื่อง ได้แต่ทักกัน แต่พอเล่นบาสแล้วมันเหมือนสื่อสารกันได้โดยไม่ต้องคุยกัน ไม่ต้องคุยกันก็ได้ เล่นแล้วซี้กัน เล่นกีฬามันเชื่อมกัน ไม่ต้องคุยกันก็ได้ ผมว่าตรงนั้นมันสำคัญ

0 ตอนส่งไปประกวดคิดว่าจะได้รับรางวัลไหม?

ผมไม่คาดหวังเลยด้วยซ้ำว่ามันจะได้รางวัลหรืออะไรก็แล้วแต่ มันเหมือนเป็นโชคสองชั้น เราทำในสิ่งที่เรารักและสิ่งที่เรารักมันดันเราขึ้นไปในสิ่งที่เราใฝ่ฝัน เหมือนกับว่าโอ้โห..มันเป็นเรื่องจริงเหรอนี่ วันนั้นพอรู้ข่าวว่าได้รับรางวัลมันเหมือนมีความสุขที่สุดในชีวิต พอรู้ข่าวว่าได้ไปญี่ปุ่นและการ์ตูนได้รางวัล โทรบอกพ่อกับแม่ผม เพราะพ่อผมคิดว่าอาชีพนี้จะทำเอาจริงๆ จังๆ คงไม่ได้หรอก พอผมทำให้เขาเห็นว่าทำได้ ผมดีใจส่วนหนึ่งว่าสิ่งที่ทำมันทำให้ครอบครัวผมภูมิใจได้ มันหาเลี้ยงตัวเองได้และสามารถประสบความสำเร็จได้ วันนั้นผมเป็นลิงกระโดดเลย งานการไม่อยากจะทำเลย รอวันที่จะได้ไปประเทศญี่ปุ่น และมารู้ทีหลังว่าได้ที่หนึ่งผมก็ยิ่งงงเข้าไปใหญ่คือได้ไปญี่ปุ่นผมก็ดีใจแล้วไง

0 จริงๆมันมีเรื่องไม่คาดคิดหลายอย่าง?

ตั้งแต่มาอยู่บันลือสาส์นพอมันเป็นการ์ตูนกีฬา มันสามารถขอสปอนเซอร์ได้ ตอนนั้นที่ขอไปก็ไม่คิดว่าจะมีใครมาลงทุนกับการ์ตูน แต่มันดันขายได้และอะไรหลายๆ อย่างมันเข้ามาอีก เขามาสนับสนุนเรื่องเงินหรือเรื่องการรวมเล่ม สามารถผลักดันได้ง่ายกว่า พออีกปีหนึ่งส่งการ์ตูนเข้าประกวดแล้วได้รางวัลที่หนึ่งด้วย เหมือนได้ 3 ขั้น คือได้เขียนลงมหาสนุกมันคือสุดยอดของผมแล้ว ได้สปอนเซอร์สนับสนุนก็สุดๆ ของผมอีกอย่างหนึ่งแล้ว และพอมาได้รางวัลที่หนึ่งอีกมันก็เหมือนกับว่ามันที่สุดแบบสุดโต่งแล้ว ผมไม่คิดเลยว่าจะได้รางวัลและรางวัลมันไม่ใช่กะโหลกกะลา แต่เป็นประเทศญี่ปุ่นที่เขาเป็นเจ้าของการ์ตูนเลย ในโลกนี้เขาเป็นอันดับหนึ่ง และเขาจัดเป็นรางวัลนานาชาติ อันนี้ไม่รวมของญี่ปุ่นด้วย

0 คิดว่าทำไมคณะกรรมการถึงตัดสินให้ผลงานของเราให้ได้รับรางวัลนี้?

อันนี้แหละผมสงสัยอยู่ แต่ที่เขาออกสื่อสัมภาษณ์มาเหมือนกับว่าการ์ตูนของเรามันไปสร้างแรงบันดาลใจให้กับเด็กๆ ฝ่าฟันอุปสรรค และกรรมการที่ตัดสินเขาตัดสินผิดพลาดหรือเปล่า (หัวเราะ) เพราะกรรมการก็เป็นระดับมืออาชีพนักเขียนการ์ตูนเลย แต่ละคนบรมจารย์เป็นเซียนของญี่ปุ่นยุคแรกๆ เลย และมีบรรณาธิการของสองสำนักพิมพ์มาตัดสิน คือเขาไม่ได้เอากะโหลกะลาเอาคณะรัฐมนตรีมาตัดสิน เขาเอาคนที่อยู่ในวงการตัวจริงมาตัดสินให้เราได้ที่หนึ่ง ผมว่ามันคือที่สุดของเราแล้วล่ะ อันนี้ไม่พูดเรื่องเงินนะ พูดถึงเรื่องกล่อง

ตอนไปญี่ปุ่นเขาพาไปแต่ละที่นี่เราไม่คิดเลยว่าจะได้ไปเหยียบ อย่างพิพิธภัณฑ์มังงะเป็นพิพิธภัณฑ์ที่รวบรวมการ์ตูนทุกสำนักพิมพ์ของญี่ปุ่นเลยและของทั่วโลกก็มีเหมือนกัน พาไปมหาวิทยาลัยที่เปิดสอนคณะมังงะ ปริญญาตรีสาขามังงะ เป็นที่เดียวและที่แรกที่สอนเขียนการ์ตูนโดยเฉพาะ เราได้ไปเหยียบที่นั่น ไปดูเด็กวาดการ์ตูน ผมไปเห็นแล้วขนลุกเลย ห้องเบ้อเร่อ เด็กปีหนึ่งเรียนกันเกือบๆ 40-50 คน และแต่ละคนมีความสุขมาก วันๆ วาดการ์ตูนอย่างเดียว และเรียนจบแล้วได้ปริญญา ทำไมประเทศเราไม่มีอย่างนี้ และเด็กๆ เขามีความสุขจริงๆ พอเขาจบมาเขาก็ไปเป็นลูกมือนักเขียนใหญ่ๆ พอถึงเวลาเขาก็สามารถดันตัวเองไปเป็นนักเขียนการ์ตูนได้ ประเทศญี่ปุ่นอาชีพนักเขียนการ์ตูนมันกลายเป็นอาชีพที่ได้รับการยอมรับชนิดที่สุดๆ เขาถึงสามารถเปิดตรงนี้ได้

0 เมื่อไปเห็นวงการการ์ตูนญี่ปุ่นแล้วมองกลับมาวงการการ์ตูนไทยรู้สึกอย่างไรบ้าง?

มันเป็นเรื่องเศร้า มันต้องเปลี่ยนมุมมองคนให้ได้ก่อนไม่ว่าจะเป็นมุมมองของผู้ปกครอง มุมมองของผู้ใหญ่ในรัฐบาล มุมมองของประชาชนทั่วไปที่มองการ์ตูน ผมพูดถึงญี่ปุ่นก่อนแล้วกัน การ์ตูนของเขาไม่ใช่เรื่องของเด็ก ความหมายของคำว่าการ์ตูนของประเทศญี่ปุ่นมันคือวัฒนธรรม มันคือสิ่งที่ทุกคนจับต้องได้ไม่ใช่แค่เด็ก และการ์ตูนเขามีหลายประเภท เขาจะแบ่งเรทชัดเจนเลยว่าการ์ตูนนี้เป็นการ์ตูนสำหรับเด็ก การ์ตูนเด็กผู้ชาย การ์ตูนเด็กผู้หญิง การ์ตูนสำหรับเด็กโตหน่อย การ์ตูนสำหรับผู้ใหญ่ คือการ์ตูนของญี่ปุ่นสร้างชาติ สร้างวัฒนธรรม สร้างระเบียบขึ้นมาได้ เป็นเรื่องน่าอิจฉามาก

เขาไม่ได้มองการ์ตูนเป็นเรื่องของเด็ก เขามองการ์ตูนเป็นเรื่องของวัฒนธรรม ทุกคนสามารถสามารถเสพการ์ตูนในวัยของตัวเองได้ กลายเป็นว่าทั้งประเทศเขาอ่านการ์ตูนหมดทุกคน บ้านเราพูดถึงการ์ตูนปุ๊บนึกถึงเด็กอย่างเดียว พอมีการ์ตูนที่เป็นแนวผู้ใหญ่ขึ้นมา บางทีมันมีการ์ตูนที่มีฉากวาบหวิว ฉากโป๊เปลือยซึ่งตรงนั้นเขาไม่ได้ทำมาให้เด็กอ่านอยู่แล้ว มันทำมาให้คนอีกกลุ่มหนึ่งอ่าน เหมือนภาพยนตร์มันก็มีได้ แต่พอมาเป็นการ์ตูนผู้ใหญ่จะมองเป็นเรื่องของเด็ก พอมีพวกนี้ขึ้นมาก็ตัดโอกาสตัดเซ็นเซอร์ไปเลย ทำให้คนที่อยากทำการ์ตูนแนวผู้ใหญ่หรือว่าเป็นการ์ตูนที่เป็นอีกแนวหนึ่งทำไม่ได้ กลายเป็นข้อจำกัดว่าการ์ตูนทุกวันนี้ถ้ามองในตลาดทุกวันนี้จะมีแต่การ์ตูนความรู้ การ์ตูนกลายเป็นเรื่องของเด็ก

ถ้าบ้านเรายังไม่สามารถแยกแยะออก การ์ตูนจะไม่สามารถเกิดขึ้นมาได้อย่างแน่นอน อันนี้เป็นเรื่องที่น่าเศร้า 0

ขอบคุณข้อมูลจาก กรุงเทพธุรกิจ

ลูกอีสาน ฉบับการ์ตูนยุค 2010

โดย : กรุงเทพธุรกิจออนไลน์
ธรรมชาติของเด็กไม่ได้ชอบรูปภาพที่เหมือนจริงเท่าไหร่ แต่จะชอบรูปภาพที่ดูง่ายๆ อย่างเช่นสัตว์ในอดีต ควาย แย้ จะทำอย่างไรให้ดูน่ารักให้เด็กชอบ
หากเอ่ยถึงนวนิยายเรื่อง 'ลูกอีสาน' ผลงานของ คำพูน บุญทวี น้อยคนนักจะไม่เคยได้ยินชื่อเสียง และส่วนใหญ่คงนึกถึงความเป็นอีสานแท้ๆ วิถีชีวิตดั้งเดิม โดยมีตัวละครเด่นอย่าง 'บักคูณ' และท้องทุ่งนาเป็นฉากสำคัญ


'ลูกอีสาน' เป็นนวนิยายเรื่องแรกที่ได้รับรางวัลวรรณกรรมสร้างสรรค์ยอดเยี่ยมแห่งอาเซียน (ซีไรต์) เมื่อปี 2522 และนำมาสร้างเป็นภาพยนตร์ในปี 2525 รวมทั้งยังได้รับการจัดให้เป็นหนังสือดี 100 เล่มที่คนไทยควรอ่านอีกด้วย
แต่ใครจะรู้ว่ามาถึงปี 2553 หรือ ค.ศ. 2010 นี้ วรรณกรรมเยาวชนจากดินแดนที่ราบสูงกำลังถูกนำกลับมานำเสนอในรูปแบบใหม่อีกครั้ง!
จากนวนิยายสู่การ์ตูน

จากนวนิยายที่เล่าเรื่องวิถีชีวิต ความเชื่อ และประเพณีของชาวอีสานผ่านตัวหนังสือ ในวันนี้ 'ลูกอีสาน' ถูกนำมาสร้างเป็นฉบับการ์ตูนสำหรับเด็ก อันเกิดจากความร่วมมือของ สำนักพิมพ์โป๊ยเซียน และมหาวิทยาลัยมหาสารคาม เพื่อร่วมสร้างสรรค์เรื่องราวผ่านลายเส้น

ย้อนกลับไปจากการออกบูธผลงานของนิสิตสาขาสื่อนฤมิต มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ที่เมืองทองธานี กรุงเทพมหานคร ในปี 2550 ทำให้ได้รับความสนใจจากสำนักพิมพ์โป๊ยเซียน จึงเกิดโครงการหนังสือสำหรับเด็กเรื่อง 'ลูกอีสาน' ซึ่งเป็นการแปลงนวนิยายบทประพันธ์ของ 'คำพูน บุญทวี' นักเขียนซีไรต์คนแรกของเมืองไทย โดยจะผลิตออกมาสองภาษา ผ่านปลายดินสอของนิสิตจากคณะวิทยาการสารสนเทศ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม (มมส.)

ลันนา บุญทวี เจ้าของสำนักพิมพ์โป๊ยเซียน เล่าว่า ด้วยความที่ลูกอีสานเป็นวรรณกรรมเยาวชน มีวัฒนธรรมเกี่ยวกับภาคอีสาน บวกกับเวลานี้มีหนังสือการ์ตูนที่ออกใหม่หลายเล่ม แต่ไม่ต่อเนื่องและไม่ได้เล่าเรื่องมากนัก ส่วนใหญ่เป็นการ์ตูนต่างประเทศ จึงเกิดความคิดว่าลูกอีสานก็น่าจะนำมาทำเป็นการ์ตูนได้

"น่าจะทำได้นะ เลยปรึกษากับอาจารย์ที่ มมส.คุยกัน 3-4 ปี ไม่ลงตัวสักที เพิ่งลงตัวเมื่อไม่นานมานี้เอง ช่วงแรกๆ ตัวการ์ตูนไม่ลงตัว คือเราไม่ต้องการแบบการ์ตูนญี่ปุ่นหรือฝรั่ง แต่ต้องการแบบไทยและต้องดูว่าถ้าทำออกมาแล้วเด็กจะชอบหรือเปล่า จนถึงขั้นที่ว่าอาจารย์มหาวิทยาลัยมหาสารคามทำวิจัยเรื่อง การ์ตูนลักษณะไหนที่เด็กชอบ ทางนั้นส่งแบบร่างตัวการ์ตูนมาเยอะ กว่าจะตัดสินใจได้ก็นานเหมือนกัน เพราะเขาต้องหาข้อมูลพอสมควร"

ภาพเล่าเรื่องคือความต้องการของเธอเพราะง่ายแก่การอ่านและทำความเข้าใจ เหมาะกับทุกวัย หากเป็นเด็กสามารถดูรูปและหัดอ่านได้ เพื่อปลูกฝังให้เกิดความรักในการอ่านที่สามารถพัฒนาได้ตั้งแต่วัยเยาว์ และมีถึงสองภาษาทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ

"เราได้ทำหนังสือสำหรับเด็กด้วย เลยคิดว่าควรจะเสริมตรงจุดนี้ เด็กจะได้รับรู้วัฒนธรรมของอีสานซึ่งเป็นสิ่งที่ควรปฏิบัติตาม คงมีประโยชน์บ้าง ไม่มากก็น้อย และอยากให้เด็กๆ ที่อยู่ในวัยศึกษาได้อ่าน หวังว่าจะเป็นหนังสือประจำห้องสมุดของหลายๆ โรงเรียน เพราะคุณภาพของฉบับการ์ตูนก็ไม่ต่างจากฉบับอ่านนอกเวลา ก่อนตายขอให้ได้ทำฉบับการ์ตูนนี้ออกมาให้ได้ เพราะหวังว่าเด็กรุ่นหลังๆ หรือคนรุ่นหลังๆ จะได้รู้จัก หมดตัวก็ยอม เพราะเราอยากให้ออกมาจริงๆ" ลันนา เล่าถึงความตั้งใจ

กว่าจะเป็นลายเส้น 'ลูกอีสาน'

วรรณกรรมเยาวชนเรื่อง 'ลูกอีสาน' เป็นบทประพันธ์ที่ก่อเกิดจากการใช้จินตนาการบนพื้นฐานของความเป็นจริง ความโดดเด่นอยู่ที่การสะท้อนภาพสังคมวัฒนธรรมของชาวอีสานเมื่อแปดสิบปีที่แล้ว โดยเขียนบรรยายเป็นตัวอักษร เมื่อจะทำเป็นหนังสือการ์ตูนจึงต้องมีการแปลงตัวอักษรเหล่านั้นให้เป็นภาพ เพื่อที่จะสื่อจินตนาการออกมาให้ตรงกับบทประพันธ์มากที่สุด

สุชาติ แสนพิช อาจารย์ประจำสาขาสื่อนฤมิต คณะวิทยาการสารสนเทศ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม หนึ่งในผู้ให้คำปรึกษา เล่าว่า "เรื่องของภาพคือเราตีความหมายตามรูปประโยคของบทประพันธ์ ให้อาจารย์ในสาขาและนิสิตมาร่วมตีความ มานึก จินตนาการว่าเรารู้สึกยังไง แล้วพยายามวาดออกมาเป็นภาพ เพื่อให้สื่อความหมายตามประโยคแต่ละเรื่อง แต่ละตอน เช่น บ้านอีสานในสมัยก่อนเป็นยังไง การใช้ชีวิต การทำปลาร้า หรือการกินไข่ที่หมกอยู่ในทราย ในบทประพันธ์ถ่ายทอดมาว่าต้องนำไข่ไปหมกในทรายและให้แดดมันระอุเข้าไป ซึ่งปัจจุบันไม่มี เราก็รู้ว่าสังคมอีสานเรื่องของวัฒนธรรม ประเพณีในวัด ในหมู่บ้าน เมื่อแปดสิบปีเป็นยังไง ในบทประพันธ์อธิบายไว้อย่างชัดเจน เราต้องแปลงตรงนั้นให้เป็นภาพอย่างชัดเจนด้วย"

อาจารย์สุชาติ ยกตัวอย่างคำว่า 'เกวียน' ก็ต้องไปดูเกวียนจริงๆ ว่าเป็นอย่างไร เมื่อก่อนการตำข้าวเป็นแบบไหนก็ต้องลงพื้นที่หาข้อมูล เพื่อจูนภาพให้ตรงกันว่าเข้าใจตรงกันไหม แล้วจึงเป็นหน้าที่ของนิสิตไปสเกตช์ภาพเพื่อให้อาจารย์ที่ปรึกษาตรวจสอบอีกครั้ง แล้วจึงลงสีในคอมพิวเตอร์ต่อไป

"ไม่ได้วาดให้เหมือนจริง แต่เป็นการวาดให้เหมือนเด็ก คาแรคเตอร์ของตัวละครจึงเป็นสิ่งที่ต้องใส่ใจ เพื่อให้เด็กเข้าใจง่าย เพราะโดยธรรมชาติของเด็กไม่ได้ชอบรูปภาพที่เหมือนจริงเท่าไหร่ แต่จะชอบรูปภาพที่ดูง่ายๆ อย่างเช่น สัตว์ในอดีต ควาย แย้ จะทำอย่างไรให้ดูน่ารักให้เด็กชอบ" อ.สุชาติ เล่า

เมื่อถามถึงความยากง่ายในการทำลูกอีสานเวอร์ชั่นการ์ตูน อาจารย์ที่ปรึกษาบอกว่า.. "การคงไว้ซึ่งบทประพันธ์เป็นอีกหนึ่งสิ่งที่สำคัญ" หรือการทำให้บทประพันธ์ลูกอีสานยังคงความขลังของบทประพันธ์ซีไรต์อยู่ได้ เป็นโจทย์ที่ยากของทีมงานซึ่งต้องอาศัยความสามารถของนิสิตแต่ละคนและการทำงานเป็นทีมนั่นเอง

งานวาดสร้างประสบการณ์

เนื่องจากเป็นวรรณกรรมมาก่อน การทำให้ตัวหนังสือกลายเป็นรูปวาดการ์ตูนจึงไม่ใช่เรื่องง่ายที่ใครก็สามารถทำได้ อีกทั้งผู้รับผิดชอบเกี่ยวกับการวาด มีถึงสองคนคือ พชร โหสุวรรณ และชุตินันท์ วรุณศรี นิสิตชั้นปีที่ 4 สาขาสื่อนฤมิต คณะวิทยาการสารสนเทศ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม

"ส่วนใหญ่งานที่เป็นภาพประกอบจะมีคนวาดคนเดียว แต่นี่เป็นการทำงานร่วมกับคนอื่นครั้งแรก ถ้าเป็นงานคำนวณจะมีตัวเลขกำหนดไว้อย่างชัดเจนอยู่แล้วจึงไม่มีปัญหา ถ้าเป็นงานครีเอทบางทีความคิดไม่ตรงกันก็ต้องปรับตัวเข้าหากันพอสมควร" พชร กล่าว

เขาออกตัวด้วยว่า "ความที่เกิดที่จังหวัดสุพรรณบุรีทำให้อาจจะมีปัญหากับการทำความเข้าใจบทประพันธ์ในช่วงแรก แต่ด้วยความที่บทประพันธ์บรรยายภาพได้ชัดเจน ทำให้ทำความเข้าใจได้ไม่ยาก ก่อนจะถ่ายทอดออกเป็นลายเส้น ส่วนเรื่องการออกแบบต่างๆ ต้องปรึกษาอาจารย์และผู้เชี่ยวชาญด้านวัฒนธรรมอีสาน"

ทั้งนี้ หนังสือการ์ตูนลูกอีสานนี้กำลังอยู่ในขั้นตอนการผลิต โดยสามารถออกแบบตัวละคร ฉาก และรูปแบบการนำเสนอได้แล้ว ผลงานทั้งหมด 6 เล่ม เล่มละ 6 ตอน ตอนละ 20 แผ่น รวมทั้งหมด 720 แผ่น ซึ่งแต่ละแผ่นนั้นต้องใช้เวลาพอสมควรกว่าจะออกมาสมบูรณ์แบบ โดยมีบรรณาธิการพิเศษคือ กุดจี่-พรชัย แสนยะมูล จากสำนักพิมพ์ไม้ยมก เข้ามาช่วยดูแลในส่วนของเนื้อหา

รวมทั้งได้อาจารย์คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม เข้ามาให้คำปรึกษา ในเรื่องการใช้ประโยค ข้อความ ว่าเหมาะสมกับเด็กหรือไม่ ทำให้บางคราวการตัดทอนเนื้อหาบางส่วนก็เกิดขึ้นได้ หากเกิดความไม่เหมาะสม

เจ้าของลายเส้นบอกว่าต้องให้ความใส่ใจในขั้นตอนการทำงานอย่างละเอียดและรอบคอบ โดยมีอาจารย์เข้าไปร่วมพูดคุย นำบทประพันธ์มาแล้วดูว่าเนื้อส่วนไหนจะแบ่งเป็นหนึ่งหน้า มีความยาวเท่าใด เพราะต้องแบ่งสัดส่วนให้ชัดเจน และร่วมปรึกษาคำบางคำที่ต้องใช้ความเข้าใจอย่างลึกซึ้ง หรือต้องเห็นภาพจริงจากสถานการณ์จริง



นอกเหนือจากการทำงานเป็นทีมร่วมกันแล้ว สิ่งที่ได้จากการทำงานชิ้นนี้สามารถเปลี่ยนทัศนคติของทีมงานคนรุ่นใหม่ที่มีต่อภาคอีสานไปได้อย่างสิ้นเชิง

"ชนบทมันไม่ค่อยต่างกันจากที่รู้ ในหนังสือกับสภาพความเป็นจริงก็คล้ายกันบ้าง แต่ก่อนเคยได้ยินเพื่อนเล่าว่าอีสานแห้งแล้งมากในหนังสือผมก็เข้าใจประมาณนั้น แต่ของจริงไม่ใช่ ไม่ได้แห้งแล้งขนาดนั้น คืออีสานค่อนข้างสมบูรณ์ขึ้น การละเล่น วิถีชีวิตเก่าๆ มันเป็นเสน่ห์ของอีสาน เลยอยากเสนอความรู้สึกนี้ผ่านภาพไปด้วย อะไรเก่าๆ ที่แม้กระทั่งผู้ใหญ่เองก็มองข้าม

อย่างเช่นบ้านที่ใช้ใบไม้มาขึงตรงผนัง มันคือรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ ถ้ามองผ่านๆ มันก็คือความกันดาร แต่ถ้ามองลึกๆ ลงไป มันคือวิถีชีวิตที่สวยงามที่ควรอนุรักษ์ไว้ เราจึงอยากถ่ายทอดตรงนั้น การทำงานภาพบางครั้งเราต้องมองสิ่งที่ตรงกันข้าม" เขากล่าว

ขณะเดียวกันการได้เข้าใจสภาพสังคมวัฒนธรรมอีสานมากขึ้น ทำให้ทีมงานต่างได้ตระหนักถึงการปรับตัวให้กับความเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรม อย่างที่อาจารย์สุชาติ เห็นว่า บางสิ่งยังเป็นวัฒนธรรมประเพณีที่สำคัญก็ยังคงอยู่ในปัจจุบัน จึงอยากให้เยาวชนได้เห็นว่าสิ่งเหล่านี้มีความสัมพันธ์กับความเป็นตัวตนของเราอย่างไรบ้าง เพราะปัจจุบันเราอาจจะเห็นภาพวัฒนธรรมไม่ชัดเจน หนังสือการ์ตูนเล่มนี้จึงจะบอกเล่าเรื่องเมื่อแปดสิบปีที่แล้วผ่านมุมมองของคนรุ่นใหม่ หนังสือการ์ตูนเล่มนี้จึงจะบอกเล่าเรื่องเมื่อแปดสิบปีที่แล้วผ่านมุมมองของคนรุ่นใหม่

ทางด้าน รศ.วิรัตน์ พงษ์ศิริ คณบดีคณะวิทยาการสารสนเทศ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม มองว่า "การผลิตหนังสือการ์ตูนลูกอีสานเป็นการร่วมมือกับมหาวิทยาลัยที่มีองค์ความรู้ มีเทคนิค และวิธีการที่จะนำเสนอสื่อที่ทันสมัยและน่าสนใจ ร่วมกับสื่อเอกชนที่มีเนื้อหาสาระดี แต่ทำอย่างไรที่จะสื่อออกไปสู่ผู้อื่น หรือผู้ที่ต้องการได้อย่างสมบูรณ์ แต่ที่สุดแล้วการร่วมมือในครั้งนี้ทำให้ได้จัดการเชื่อมโยงองค์ความรู้เข้ากับองค์กร สังคม บริษัท หรือแม้แต่ภาครัฐ หรือเอกชน เป็นไปตามพันธกิจที่วางไว้

นั่นคือการที่นักศึกษาของเราได้สร้างประโยชน์ให้แก่สังคม ที่สำคัญผลประโยชน์นั้นนักศึกษาจะได้เรียนรู้วัฒนธรรมอีสานผ่านการทำงานในครั้งนี้ด้วย"

การกลับมาของวรรณกรรมอมตะเรื่อง 'ลูกอีสาน' ในยุคปี 2010 นี้ น่าจะทำให้เด็กและเยาวชนได้เรียนรู้สภาพความเป็นอยู่และวัฒนธรรมความเป็นอีสานในสมัยก่อนได้อย่างดี

อย่างน้อยที่สุดก็ได้เห็นภูมิปัญญาการใช้ชีวิตฝ่าฟันความแห้งแล้งกันดารกว่าจะมีผืนดินอีสานอย่างทุกวันนี้

****************
ลูกอีสาน ฉบับการ์ตูนยุค 2010
กตัญญู บุญเดช : เรื่อง
สุรีรัตน์ ตั้งจิตเจริญกิจ : ภาพ

เทศกาลหนังสือเด็กและเยาวชนครั้งที่ 7

วันหยุดอย่างนี้ ถ้ามีเด็กๆ ในบ้านไม่รู้จะพาไปไหน
ไปเล่นกลางแจ้งก็ฝนตกเปียกแฉะ ลองพามาเลือกซื้อหนังสือกันในงาน
เทศกาลหนังสือเด็กและเยาวชนครั้งที่ 7 หรือ Book Festival for Young People 2009
เดินกันสบายๆ เพราะงานเค้าจัดที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ไปจนถึงวันที่ 12 ก.ค. นี้
ในงานมีร้านหนังสือสำหรับเยาวชนมาลดราคาโปรโมชั่นที่น่าพอใจ
น่าดีใจที่เดี๋ยวนี้มีหนังสือความรู้ด้านต่างๆ ทำมาเป็นการ์ตูนภาพสวยๆ น่าอ่านเยอะขึ้น
แต่ที่เห็นมากเลย คือ นิยายปกการ์ตูนค่ะ มากันหลายสำนักพิมพ์ แล้วเด็กก็สนใจกันมากกก~
นิยายปกการ์ตูนก็มีเนื้อหาหลายแบบ ก่อนจะซื้อให้ลูกหลานของท่านพิจารณาสักนิด!!
ถ้าหากผู้ปกครองเป็นห่วงกลัวว่าจะมีเนื้อหาไม่เหมาะสม สามารถสอบถามจากผู้ขายก่อนได้
ว่าเนื้อหาในเล่มเป็นอย่างไร เพื่อจะได้เลือกเนื้อหาให้เหมาะกับอายุของคนอ่านนะคะ
ไม่ใช่มีแค่หนังสือสำหรับเยาวชนเท่านั้น หนังสือสำหรับผู้ใหญ่
ที่เกี่ยวกับการเลี้ยงดูเด็ก และของเล่นสำหรับพัฒนาสมองของเด็กเล็กก็มีค่ะ
ลองแวะมาชมกันดู เพราะผู้ใหญ่ที่ชอบอ่านหนังสือเยาวชนก็มีเยอะแยะเหมือนกัน
นอกจากหนังสือที่ลดราคาเยอะกว่านอกงานแล้ว
ที่ทาโกะชอบใจมาก คือ โซน Plaza ค่ะ เพราะเค้ามีมุมจักรวาลแห่งการเรียนรู้
สนับสนุนโดย สสส. (รู้เพราะเค้ามีป้ายแปะไว้ค่ะ ^^'') ให้ความรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์
มีกิจกรรมให้เด็กๆ ได้ร่วมสนุก เช่น
- ให้ึความรู้จากรูหนอนหนังสือ และถาม-ตอบเรื่อง ลดโลกร้อน
- ให้ึความรู้เรื่องเครื่องบินจากกองทัพอากาศ มีเครื่องร่อนไม้ทำมือที่ระลึกด้วย
(อยากได้มากมาย แต่ว่ามีเด็กๆ รอกันหลายคนเลยค่ะ >.<'' เห็นใจคนทำจัง)
- ให้ึความรู้เรื่องเครื่องบินพับจากชมรมเครื่องบินกระดาษ มีการสาธิตและให้ทดลองพับเองด้วย
(นึกถึงตอนเด็กๆ ที่พับแล้วก็ร่อนแข่งกันกับเพื่อนว่าใครจะร่อนไปได้ไกลกว่ากัน ^^)
- นำเสนอแขนกลดนตรี เป็นการเล่นดนตรีไทยทั้งวงด้วยโปรแกรมคอมพิวเตอร์
ซึ่งมีเว็บไซต์นำเสนอข้อมูลอยู่ที่ http://www.muktier.com
น่าเสียดายที่วันนี้ยกมาให้ชมแต่ระนาด เพราะสถานที่ไม่เอื้ออำนวย
- ชมท้องฟ้าจำลอง (แบบสัญจรมา) เป็นซุ้มสุดท้ายของโซนนี้ค่ะ
โซนที่มีเนื้อหาวิทยาศาสตร์นี้ เด็กๆ ไม่เยอะเท่าไหร่ อาจจะเป็นเพราะเริ่มเย็นแล้วก็ได้
แต่เห็นเด็กที่ผู้ปกครองพาเข้ามาชมโซนนี้ ดูว่าเค้าสนุกสนาน แล้วก็สนใจดีค่ะ
บนเวทีในงานยังมีกิจกรรมอีกหลายอย่างนะคะ ติดตามเพิ่มเติมได้ที่
http://www.thailandbookfair.com/bookfestival2009/index.php
ทาโกะคิดว่า.. ผู้ปกครองก็มีส่วนช่วยปลูกฝังความสนใจให้กับเด็กเหมือนกัน
บางทีเปลี่ยนบรรยากาศ งดเล่นเกมส์คอมพิวเตอร์สักวัน
แล้วมาเที่ยวงานแบบนี้บ้าง อาจสร้างแรงบันดาลใจใหม่ให้เด็กๆ ก็ได้นะคะ
เพราะการเรียนรู้เกิดได้ทั้งในตำรา และนอกตำรา ( ^^ )
แหล่งที่มา: http://blog.fukduk.tv

“ลิขสิทธิ์การ์ตูนไทย ไปไกลกว่าที่คิด” กับกระแสตอบรับอย่างดีเกินคาด


ทูสปอต" จับมือพันธมิตร “เอไอไทยแลนด์” ส่งคาแรคเตอร์ “บลัดดี้ บันนี่ และเพื่อน”ย�ย� เข้าประเดิม ค่ายใหม่ “เฮ้าส์อ๊อฟการ์ตูน” รุกตลาดธุรกิจลิขสิทธิ์สินค้าไทยโดยเฉพาะ...

นายกฤษณ์ ณ ลำเลียง กรรมการผู้จัดการ บริษัท ทูสปอต คอมมิวนิเคชั่น จำกัด ผู้ประกอบการธุรกิจคาแรคเตอร์ชั้นนำของประเทศไทยอย่างครบวงจร จับมือร่วมกันกับ นายปริพันธ์ หนุนภักดี กรรมการผู้จัดการ บริษัท แอนนิเมชั่น อินเตอร์เนชั่นแนล (ประเทศไทย) จำกัด ผู้แทนจำหน่ายลิขสิทธิ์สินค้าคาแรคเตอร์/การ์ตูน (Licensed Merchandise) เรื่องดังต่างๆ จากประเทศญี่ปุ่น อาทิ โดราเอมอน ดราก้อนบอลซีรี่ย์ ชินจัง ผนึกกำลังสร้างตลาดธุรกิจลิขสิทธิ์สินค้าให้กับคาแรคเตอร์/การ์ตูนไทย (Thai Characters Licenses)

โดยจัดแถลงข่าวเปิดตัวบริษัทน้องใหม่ “เฮ้าส์อ๊อฟการ์ตูน” พร้อมแต่งตั้งให้เป็นผู้แทนดูแลลิขสิทธิ์คาแรคเตอร์หลักของทูสปอตซึ่งได้แก่ บลัดดี้บันนี่ (Bloody Bunny) อันสลีพชีพ (Unsleep Sheep) และบีสกิต (Biscuit) แต่เพียงผู้เดียวในประเทศไทย ณ ศูนย์การเรียนรู้เพื่อผู้ประกอบการ SME ชั้น 2 อาคารจามจุรีสแควร์

นายกฤษณ์กล่าวถึงการผนึกกำลังร่วมกันในครั้งนี้ว่า มีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นการเปิดตัวคาแรคเตอร์ของย�ย�ย�ย�ย� ทูสปอตในรูปแบบของลิขสิทธิ์สินค้าให้กับผู้ที่สนใจและพร้อมที่จะร่วมกันเป็นหุ้นส่วนทางธุรกิจในประเทศไทย หลังจากที่ทางทูสปอตได้ทำการเปิดตลาดและประสบความสำเร็จในการเผยแพร่คาเรกเตอร์ในตลาดต่างประเทศมาก่อนหน้านี้ และเพื่อเป็นการต่อยอดลิขสิทธิ์สินค้าให้เข้าสู่ตลาดที่กว้างขวางและหลากหลายขึ้นหลังจากที่ทูสปอตได้ทำการตลาดให้คาแรคเตอร์เหล่านี้เป็นที่ยอมรับในเชิงคุณภาพและความสร้างสรรค์ให้แก่กลุ่มลูกค้าในระดับพรีเมี่ยมแบรนด์มาแล้ว

นายกฤษณ์กล่าวว่า คาแรคเตอร์หลักของทูสปอตที่ได้มอบสิทธิ์ให้กับเฮ้าส์อ๊อฟการ์ตูนประกอบด้วยย�ย�ย�ย�ย�ย�ย� บลัดดี้บันนี่ (Bloody Bunny) อันสลีพชีพ (Unsleep Sheep) และบีสกิต (Biscuit) ซึ่งคาแรคเตอร์ทั้งสามได้มีการวิจัย พัฒนาและทำตลาดมาแล้วกว่า 5 ปี ออกงานแสดงสินค้าในตลาดต่างประเทศทุกปี อาทิเช่นงาน NY Licensing, HK Licensing Tokyo Animation Fair และ Singapore Toy, Game & Comic สำหรับในประเทศไทยคาแรคเตอร์เหล่านี้ได้มีการทำตลาดผ่าน ณ จุดขายของห้างสรรพสินค้าชั้นนำ และเผยแพร่ผ่านสื่อต่างๆ อาทิ Channel V Thailand, สื่อออนไลน์ และนิตยสารวัยรุ่น

จุดแข็งของคาแรคเตอร์ของทูสปอตจะมีเอกลักษณ์และความโดดเด่น รวมถึงความเป็น Emotional Product ให้กับวัยรุ่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งมีความทันสมัย ซึ่งในอนาคตทูสปอตมีแผนจะขยายสู่ตลาดเด็กแรกเกิด (0-3 ปี) และเด็ก (4-12 ปี) ด้วย เพื่อตอบสนองความต้องการของตลาดสินค้าลิขสิทธิ์

นายกฤษณ์กล่าวต่อไปว่าทูสปอตจึงได้จับมือร่วมกับบ.เอไอไทยแลนด์ฯ ช่วยกันสร้างธุรกิจลิขสิทธิ์สินค้านี้ขึ้น ซึ่งด้วยประสบการณ์และความสามารถพร้อมการบริหารงานอย่างมีระบบสากลของเอไอไทยแลนด์ฯ ที่ประสบความสำเร็จในธุรกิจลิขสิทธิ์สินค้านี้เป็นอย่างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากคาแรคเตอร์/การ์ตูนโดราเอมอน ซึ่งเป็นที่ประจักษ์กันดีในขณะนี้ จะสามารถขับเคลื่อนคาแรคเตอร์ของทูสปอตให้เป็นที่รู้จักแพร่หลายไปได้ทั่วทั้งประเทศ

ด้านนายปริพันธ์ หนุนภักดี กรรมการผู้จัดการบริษัทแอนนิเมชั่น อินเตอร์เนชั่นแนล (ประเทศไทย)กล่าวว่า ที่ผ่านมาบริษัทฯ ประสบความสำเร็จในการทำธุรกิจลิขสิทธิ์สินค้าให้กับคาแรคเตอร์จากประเทศญี่ปุ่น จนได้รับการยอมรับจากผู้ร่วมค้าและผู้บริโภค และได้ร่วมทำโปรโมชั่นกับอีกหลากหลายบริษัทชั้นนำ ทางบริษัทฯได้เฝ้าติดตามสามคาแรคเตอร์หลักดังกล่าวของทูสปอตมาเป็นเวลานานพอสมควร และมีความเชื่อมั่นว่าทั้งสามคาแรคเตอร์มีศักยภาพ ทั้งในเชิงรูปลักษณ์ที่สากล เป็นที่รู้จักแพร่หลายทั้งในและต่างประเทศ มีจุดเด่นเฉพาะตัว สามารถที่จะนำมาพัฒนาให้เป็นลิขสิทธิ์สินค้าได้อย่างแพร่หลายในเชิงการตลาดได้เป็นอย่างดี ทางบริษัทฯจึงได้เจรจากับทางทูสปอตแล้วมีความเห็นตรงกันในเรื่องของการนำเอาคาแรคเตอร์ของคนไทยมาพัฒนาธุรกิจลิขสิทธิ์สินค้าให้เกิดการแพร่หลายและเป็นที่ยอมรับทั้งในประเทศและระดับนานาชาติ



ดังนั้นเพื่อให้เกิดการทำธุรกิจอย่างเต็มที่และชัดเจน บ.แอนนิเมชั่น อินเตอร์เนชั่นแนล (ประเทศไทย) จำกัด และ บ.เจเอสแอล โกลบอล มีเดีย จำกัด จึงได้ก่อตั้ง บ.เฮ้าส์อ๊อฟการ์ตูน จำกัด ขึ้นมาเพื่อรองรับการนี้โดยเฉพาะ ทั้งนี้เพื่อความคล่องตัวในการดำเนินงาน อีกทั้งเพื่อประสิทธิภาพในการขับเคลื่อนที่แข็งแกร่ง บริษัทฯใหม่นี้จะทำการปรับปรุง/เปลี่ยนแปลง/พัฒนาระบบการทำงานให้สอดคล้องและทันต่อความต้องการของตลาดในประเทศไทยโดยเฉพาะ และในอนาคตเมื่อสร้างฐานที่แข็งแรงได้แล้ว ก็จะสร้างสรรค์และพัฒนาคาแรคเตอร์ไทยอื่นๆ ออกสู่ตลาดต่างประเทศในโอกาสต่อๆไป

สำหรับในช่วงปีสองปีแรกนี้ คาดว่าจะสามารถแบ่งส่วนทางการตลาดได้ 10-20 % ของสัดส่วนในธุรกิจลิขสิทธิ์สินค้าคาแรคเตอร์ และตั้งเป้าว่าจะสามารถขยับขึ้นเป็นผู้แทนดูแลลิขสิทธิ์ระดับต้นๆ ได้ภายใน 5 ปีต่อจากนี้ เนื่องจากเราใช้ประสบการณ์/กลยุทธ์การทำตลาดเช่นเดียวกับที่เอไอไทยแลนด์ประสบความสำเร็จมาแล้ว คือการทำงานร่วมกันแบบเป็นพันธมิตร เป็นพาร์ทเนอร์ทางธุรกิจกัน ไม่ได้มองเพียงแต่การขายเท่านั้น เราพยายามเข้าไปมีส่วนร่วมในการพัฒนาธุรกิจกับพันธมิตรเราด้วย เมื่อพันธมิตรของเราเติบโต ก็เท่ากับว่าคาแรคเตอร์ของเราเติบโต และเราต่างร่วมเติบโตไปในตลาดพร้อมกัน นายปริพันธ์กล่าวทิ้งท้าย




ที่มา : http://www.thairath.co.th/content/life/48141

Top 10 หนังสือการ์ตูนญี่ปุ่นที่ยาวที่สุด โห

อันดับ 1 - Kochira Katsushika-ku Kameari Koen-mae Hashutsujo จำนวน 164 เล่ม

นอกจากเป็นเรื่องที่ยาวที่สุดแล้ว ชื่อเรื่องก็ยังยาวด้วย แต่ก็มักจะเรียกกันย่อๆว่า Kochikame เขียนโดย Osamu Akimoto ลงในหนังสือ Shonen Jump ต่อเนื่องตั้งแต่ปี 1976 จนถึงปัจจุบัน รวมแล้วตอนนี้ก็มีประมาณ 1,600 ตอน เป็นการ์ตูนตลก เนื้อเรื่องเกี่ยวกับชีวิตประจำวันของตำรวจประจำป้อมยามในเมืองโตเกียว เรื่องนี้เคยทำเป็นอนิเมฉายทาง TV ในช่วงปี 1996 - 2005 ด้วย แต่ในไทยยังไม่เคยมีใครซื้อลิขสิทธิ์ และคิดว่าคงไม่มีใครซื้อ เพราะมุกในเรื่องนี้เป็นมุกแบบญี่ปุ่น ซึ่งบางมุกคนไทยอาจไม่เข้าใจ และด้วยจำนวนเล่มที่มากมายขนาดนี้ ต่อให้พิมพ์ด้วยความเร็วสูงแบบไม่มีดองได้อย่างมากก็เดือนละ 2 เล่ม ถ้ามี 164 เล่ม ก็ต้องพิมพ์ 82 เดือน = 6 ปีกว่าๆ

อันดับ 2 - Golgo 13 จำนวน 152 เล่ม

เขียนโดย Takao Saito ลงในหนังสือ Big Comic ต่อเนื่องตั้งแต่ปี 1969 จนถึงปัจจุบัน (เขียนก่อน Kochikame แต่จำนวนตอนน้อยกว่า เพราะ Big Comic ออกเดือนละ 2 เล่ม แต่ Jump ออกทุกสัปดาห์) เนื้อเรื่องเกี่ยวกับสุดยอดมือปืนรับจ้างที่รับจ้างสังหารทุกคน ไม่ว่างานจะยากแค่ไหน เป้าหมายจะเป็นใคร จะดีหรือเลวไม่สน ขอแค่ผู้จ้างมีเงินจ่ายก็จะจัดการให้เรียบร้อย ไม่เคยพลาด เรื่องนี้เคยทำเป็นภาพยนตร์และเกมมาแล้ว แต่พึ่งได้ทำเป็นอนิเมฉายทาง TV เมื่อปีที่แล้ว ในไทยเคยเห็นมีเป็นหนังสือชื่อ โกลโก้ 13 แต่ผมไม่แน่ใจว่ามีลิขสิทธิ์รึเปล่า

อันดับ 3 - Dokaben จำนวน 144 เล่ม

เขียนโดย Shinji Mizushima ลงในหนังสือ Shonen Champion ตั้งแต่ปี 1972 ถึง 1987 ก่อนที่จะกลับมาเขียนใหม่ในปี 1995 จนถึงปัจจุบัน เนื้อเรื่องเกี่ยวกับเบสบอล ม.ปลาย เคยทำเป็นอนิเมฉายทาง TV ในช่วงปี 1976 - 1979 เรื่องนี้รู้สึกจะไม่เคยเข้าไทย แต่ในญี่ปุ่นถือว่าเป็นการ์ตูนกีฬาที่เป็นอันดับ 2 เป็นรองแค่ Slam Dunk เท่านั้น

อันดับ 4 - Cooking Papa จำนวน 104 เล่ม

เขียนโดย Tochi Ueyama ลงในหนังสือ Morning ต่อเนื่องตั้งแต่ปี 1986 จนถึงปัจจุบัน เป็นการ์ตูนสอนทำอาหาร เนื้อเรื่องเกี่ยวกับคุณพ่อที่เป็นพนักงานบริษัทแต่กลับมีฝีมือในการทำอาหารชั้นยอด เคยทำเป็นอนิเมฉายทาง TV ในช่วงปี 1992 - 1995 และทำเป็นละครเมื่อปีที่แล้ว ไม่แน่ใจว่าหนังสือเคยเข้าไทยรึเปล่า แต่อนิเมเคยเข้าแน่ๆ ฉายทาง UBC (หรือสมัยที่ยังเป็น IBC ก็ไม่รู้ .....นานจนลืมไปแล้ว)

อันดับ 5 - Oishinbo จำนวน 102 เล่ม

เขียนโดย Tetsu Kariya และ Akira Hanasaki ลงหนังสือ Big Comic Spirits ตั้งแต่ปี 1983 ถึง 2008 ก่อนที่จะกลับมาเขียนต่อเมื่อต้นปีที่ผ่านมานี้ เป็นการ์ตูนสอนทำอาหารอีกเรื่อง เนื้อเรื่องเกี่ยวกับนักข่าวหนังสือพิมพ์ที่คอยหาสุดยอดเมนูอาหารไปทั่วประเทศ เคยทำเป็นอนิเมฉายทาง TV ในช่วงปี 1988 - 1992 แต่รู้สึกจะไม่เคยเข้าไทยเหมือนกัน

อันดับ 6 - Jojo no Kimyo na Boken จำนวน 97เล่ม

เขียนโดย Hirohiko Araki ลงหนังสือ Shonen Jump ตั้งแต่ปี 1987 ก่อนที่จะย้ายไปลง Ultra Jump ในภาคล่าสุด โดยเขียนต่อเนื่องมาตลอด มีหยุดเขียนบ้างเล็กน้อยในช่วงเปลี่ยนภาคจนจบภาค 6 ในปี 2002 และในปี 2004 ถึงเริ่มเขียนเรื่องใหม่ชื่อ Steel Ball Run แต่หลังจากเขียนไปซักพักอยู่ดีๆก็เติมชื่อ Jojo เข้าไปเฉย กลายเป็น Jojo ภาคที่ 7 ไปเรียบร้อย เนื้อเรื่องของแต่ละภาคจะต่างกันไป แต่ทุกภาคจะเกี่ยวกับการต่อสู้ของผู้มีพลังพิเศษ และมีตัวเอกที่ชื่อและนามสกุลขึ้นต้นด้วยคำว่า Jo... ทั้งคู่เสมอ แม้ว่าเรื่องนี้จะได้รับความนิยมสูง แต่ก็เคยทำเป็นอนิเมแค่ OVA 13 ตอนเท่านั้น ไม่เคยทำฉายทาง TV น่าจะเป็นเพราะลายเส้นของผู้เขียนซับซ้อนมากจึงไม่เหมาะต่อการทำเป็นอนิเม ในไทยใช้ชื่อว่า โจโจ้ ล่าข้ามศตวรรษ ลิขสิทธิ์เป็นของเนชั่น เอ็ดดูเทนเมนท์

อันดับ 7 - Kotaro Makaritoru จำนวน 94เล่ม

เขียนโดย Tatsuya Hiruta ลงหนังสือ Shonen Magazine ตั้งแต่ปี 1982 จนถึงปัจจุบันยังไม่จบแต่หยุดพักชั่วคราวมาเป็นปีแล้ว เนื้อเรื่องเกี่ยวกับการผจญภัย(มันนับป็นการผจญภัยได้มั้ยเนี่ย เหอๆ)ของตัวเอกที่เป็นนักเรียนมัธยมและมีความสามารถด้านคาราเต้ ในไทยใช้ชื่อว่า ข้าชื่อโคทาโร่ ลิขสิทธิ์เป็นของวิบูลย์กิจ ส่วนสาเหตุที่หยุดเขียนก็เพราะผู้เขียนป่วยหนัก ไม่สามารถเขียนได้ แต่ก็มีบางข่าวบอกว่าผู้เขียนหายแล้ว แต่สำนักพิมพ์เห็นว่าความนิยมตกจึงไม่ได้ให้เขียนต่อ ซึ่งถ้าเป็นความจริงก็คงจะแย่ยิ่งกว่าโดนสั่งตัดจบแบบปาหมอนอีก

อันดับ 8 (ร่วม) - Grappler Baki จำนวน 91 เล่ม

เขียนโดย Keisuke Itagaki ลงหนังสือ Shonen Champion ต่อเนื่องตั้งแต่ปี 1991 จนถึงปัจจุบัน เนื้อเรื่องเกี่ยวกับนักสู้ผู้ที่ผจญภัยเพื่อจะเป็นนักสู้ที่แข็งแกร่งที่สุดในโลก โดยการที่จะทำได้นั้นจะต้องเอาชนะพ่อของตัวเองที่ได้ชื่อว่าเป็นสิ่งมีชีวิตที่แข็งแกร่งที่สุดในโลกให้ได้ ในไทยใช้ชื่อว่า บากิ ลิขสิทธิ์เป็นของวิบูลย์กิจ

อันดับ 8 (ร่วม) - Shizukanaru Don จำนวน 91 เล่ม

เขียนโดย Tatsuo Nitta ลงหนังสือ Shonen Sunday ต่อเนื่องตั้งแต่ปี 1989 จนถึงปัจจุบัน เนื้อเรื่องเกี่ยวกับลูกชายของหัวหน้าแก๊งยากูซ่าที่เลือกจะไม่เข้าแก๊งและกลายเป็นดีไซเนอร์ของบริษัทแห่งหนึ่ง แต่ก็ถูกพ่อบังคับให้มาสืบทอดตำแหน่งหัวหน้าแก๊ง โดยมีเงื่อนไขว่าต้องปกปิดสถานะของตัวเองเป็นความลับไม่ให้เพื่อนร่วมงานรู้ เรื่องนี้เคยทำเป็นละคร แต่รู้สึกจะไม่เคยเข้าไทยอีกแล้ว

อันดับ 9 - Hajime no Ippo จำนวน 87 เล่ม

เขียนโดย Jyoji Morikawa ลงหนังสือ Shonen Magazine ต่อเนื่องตั้งแต่ปี 1990 จนถึงปัจจุบัน เนื้อเรื่องเกี่ยวกับเด็กที่ถูกเพื่อนรังแกอยู่เสมอจนวันหนึ่งได้รับการช่วยเหลือจากนักมวยคนหนึ่ง ทำให้เขามีความฝันอยากจะเป็นนักมวยบ้าง เรื่องนี้เคยทำเป็นอนิเมฉายทาง TV ในช่วงปี 2000 - 2002 และภาคใหม่พึ่งเริ่มฉายเมื่อต้นปีที่ผ่านนมา ในไทยใช้ชื่อว่า ก้าวแรกสู่สังเวียน ลิขสิทธิ์เป็นของวิบูลย์กิจ

อันดับ 10 - Captain Tsubasa จำนวน 82 เล่ม

เขียนโดย Yoichi Takahashi ลงหนังสือ Shonen Jump ตั้งแต่ปี 1981 และย้ายไปลง Young Jump จนถึงปัจจุบัน เนื้อเรื่องเกี่ยวกับเด็กคนหนึ่งที่รักการเล่นฟุตบอล มีความพยายาม ไม่ท้อถอย มีจิตใจดีงาม และเก่ง เรียกว่าสมเป็นพระเอกจริงๆ (และที่สำคัญที่สุด ตั้งแต่ตอนแรกจนถึงปัจจุบัน นัดไหนที่พระเอกได้ลงสนามรู้สึกว่ายังไม่เคยแพ้ทีมไหนเลยซักครั้ง เหอๆ) เรื่องนี้จริงๆเคยจบไปหลายครั้งแล้ว แต่ผู้เขียนไปเขียนเรื่องอื่นแล้วไม่รุ่ง สุดท้ายก็ต้องกลับมาหากินกับเรื่องนี้ต่อ โดยในตอนแรกจบที่การได้แชมป์ระดับประเทศ แล้วกลับมาเขียนภาคใหม่จนจบได้แชมป์เยาวชนโลก แล้วปี 2001 ก็กลับมาเขียนต่อเพื่อช่วยจุดกระแสฟุตบอลโลกที่ญี่ปุ่นจะเป็นเจ้าภาพร่วมในปี 2002 โดยเน้นไปที่ตัวเอกที่เล่นฟุตบอลอาชีพในสเปนแต่เขียนได้ยืดมาก จนจบภาคเวลาจริง 3 ปี ในเรื่องพึ่งแข่งไปไม่กี่นัด(เรียกว่ามีแต่น้ำล้วนๆ) ต่อมาก็กลับมาเขียนภาคเตรียมไปโอลิมปิก(ทั้งๆที่ภาคก่อนพึ่งเตรียมไปบอลโลกแล้วยังไม่ได้ไป เรียงลำดับเรื่องได้งงมาก) จนเมื่อปีที่แล้วก็จบภาคลงโดยที่ญี่ปุ่นพึ่งผ่านรอบคัดเลือกได้ไปแข่งโอลิมปิกรอบสุดท้าย ล่าสุดเมื่อต้นปีนี้ก็กลับมาเขียนภาคใหม่อีกโดยเน้นไปที่เพื่อนๆตัวเอกที่เล่นฟุตบอลอาชีพในอิตาลี (.......จะเริ่มแข่งโอลิมปิกเมื่อไหร่ก็ไม่รู้) แม้ว่าหลังๆจะมีคนบ่นกันมากว่ายืด โม้ และมั่วเกินไป แต่ก็ต้องยอมรับว่าเรื่องนี้โด่งดังไปทั่วโลกและได้จุดประกายให้กับนักฟุตบอลชื่อดังหลายๆคนไม่ว่าจะเป็น Hidetoshi Nakata อดีตนักเตะอันดับ 1 ของญี่ปุ่นและเอเชีย, Zinedine Zidane อดีตนักเตะอันดับ 1 ของฝรั่งเศสและของโลก หรือคนที่ยังเล่นอยู่ในปัจจุบันก็ เช่น Francesco Totti กับ Alessandro Del Piero ทีมชาติอิตาลี และ Fernando Torres ทีมชาติสเปน เรื่องนี้เคยเป็นอนิเมฉายทาง TV และเป็น OVA อยู่หลายภาค และเคยเข้ามาฉายในไทยโดยใช้ชื่อว่า เจ้าหนูสิงห์นักเตะ แต่หนังสือฉบับลิขสิทธิ์ใช้ชื่อว่า กัปตันซึบาสะ ลิขสิทธิ์เป็นของสยามอินเตอร์คอมิกส์
ส่วนเรื่องอื่นๆนอก Top 10 ที่น่าสนใจก็มี
- Meitantei Conan จำนวน 64 เล่ม (ยังอีกยาวไกลกว่าจะติด Top 10 .......แต่คงไม่ยากเกินไปมั้ง)
- Saint Seiya จำนวน 56 เล่ม (พึ่งกลับมาเขียนภาคใหม่ หลังหยุดไป 10 ปี)
- InuYasha จำนวน 56 เล่ม *จบแล้ว*
- One Piece จำนวน 54 เล่ม
- Oke no Monsho (หรือ คำสาปฟาโรห์) จำนวน 53 เล่ม
- Kindaichi Shonen no Jikenbo จำนวน 50 เล่ม (เขียนก่อนโคนัน แต่โดนแซงไปแล้ว)
- Crayon Shin-chan จำนวน 48 เล่ม
- Naruto จำนวน 46 เล่ม
- Doraemon จำนวน 45 เล่ม *หยุดเขียน เพราะผู้เขียนเสียชีวิต*
- Glass no Kamen (หรือ หน้ากากแก้ว) จำนวน 43 เล่ม
- Tennis no Ojisama (หรือ The Prince of Tennis) จำนวน 42 เล่ม
- Dragon Ball จำนวน 42 เล่ม *จบแล้ว*
- Bleach จำนวน 38 เล่ม
- Yu-Gi-Oh! จำนวน 38 เล่ม *จบแล้ว*
- Eyeshield 21 จำนวน 35 เล่ม