เจ้าของรางวัลชนะเลิศ Gold Award 'จักรพันธ์ ห้วยเพชร'

โดย : พรชัย จันทโสก
เจ้าของรางวัลชนะเลิศ Gold Award จากเวทีการประกวดการ์ตูนนานาชาติ ครั้งที่ 3 ที่จัดขึ้น ณ กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น
"เราทำในสิ่งที่เรารักและสิ่งที่เรารักมันดันเราขึ้นไปในสิ่งที่เราใฝ่ฝัน เหมือนกับว่าโอ้โห..มันเป็นเรื่องจริงเหรอนี่ วันนั้นพอรู้ข่าวว่าได้รับรางวัลมันเหมือนมีความสุขที่สุดในชีวิต"

เมื่อเดือนธันวาคมของที่ผ่านมาน่าจะเป็นข่าวดีสำหรับเด็กๆ ที่เป็นแฟนการ์ตูนเรื่อง Super Dunker สตรีทบอลสะท้านฟ้า ผลงานของ จักรพันธ์ ห้วยเพชร นักเขียนการ์ตูนหนุ่มวัย 31 ปีจากเมืองพัทยา หลังการ์ตูนกีฬาเล่มโปรดของหลายๆ คน ได้รับรางวัลชนะเลิศ Gold Award จากการประกวด The Third International MANGA Award หรือรางวัลการประกวดการ์ตูนนานาชาติ ครั้งที่ 3 ที่จัดขึ้น ณ กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น


'จุดประกายวรรณกรรม' ฉบับเทศกาลวันเด็กแห่งชาติ 2553 ขอเอาใจเด็กๆ ด้วยการพูดคุยถึงเส้นทางกว่าจะเป็นนักเขียนการ์ตูนของ จักรพันธ์ ห้วยเพชร ทั้งในแง่ของชีวิต มุมมองความคิด และผลงานของเขาที่สร้างชื่อเสียงให้กับวงการการ์ตูนไทย

0 จำได้ไหมว่าตัวเองรู้สึกชอบการ์ตูนเอามากๆตอนไหน?

ตั้งแต่เด็กๆ ผมชอบดูการ์ตูนโทรทัศน์ ตอนนั้นยังไม่อ่านการ์ตูนเลย คือยังเป็นเด็กอนุบาล ชอบดู 'ไอ้มดแดง' เพราะบ้าแปลงร่าง แต่มาอ่านการ์ตูนจริงๆ จังๆ ยุคช่วง 'ดราก้อนบอล' พอดูเสร็จก็มานั่งวาด ผมคิดว่าเด็กทุกคนคงเป็น พอดูเสร็จแล้วก็จำมาวาด พอมีเพื่อนมาดูแล้วชอบกัน เขาบอกวาดอีกๆ วาดให้มั่ง ผมเหมือนบ้ายอบ้ายุเลยวาดไปเรื่อย เหมือนเด็กบ้า พอชอบอะไรแล้วเหมือนจงรักภักดีและชอบอยู่อย่างเดียว ตอนนั้นแทบไม่มองเรื่องอะไรเลย บ้าดราก้อนบอลอย่างเดียว ทั้งดูทั้งอ่านการ์ตูนดราก้อนบอลอย่างเดียวเลย แต่พอตอนหลังมีการ์ตูนหลายๆ เรื่องเข้ามาอย่าง 'เซนต์เซย์ย่า' หลังจากนั้นสะสมการ์ตูนมาเรื่อยๆ และวาดมาตลอด จนในห้องเรียนเขาเรียนหนังสือกัน แต่ผมนั่งวาดการ์ตูน (หัวเราะ) กลายเป็นเด็กหลังห้องที่ไม่มีใครมายุ่ง โดยเฉพาะวิชาภาษาอังกฤษทุกหน้าจะเป็นการ์ตูนเต็มไปหมด
0 เคยไปเรียนเขียนการ์ตูนไหมหรือว่าฝึกด้วยตัวเอง?

ส่วนตัวผมฝึกเองนะ เพราะว่ามันไม่มีที่ไหนให้ไปเรียน แต่สมัยนี้ค่อนข้างดี ถึงไม่มีในหลักสูตร แต่ว่ามันมีคอร์สต่างๆ ขึ้นมาเยอะ แต่ก่อนนี้ทำเองตลอด ฝึกเอง สังเกตเองทุกอย่าง โอ้โห...ผมเป็นคนที่อ่านการ์ตูนนานมากเพราะว่าผมไม่ได้อ่านแค่เนื้อเรื่อง กว่าจะผ่านไปหน้าหนึ่งใช้เวลานานมากเลย เพื่อนมันบอกมึงจะอ่านอะไรนักหนา เพื่อนอ่านตอนหนึ่งแค่สองสามนาทีเสร็จแล้ว แต่ผมอ่านเป็นครึ่งชั่วโมง อ่านแล้วอ่านอีก เปิดแล้วเปิดอีก มันเป็นของมันเอง เหมือนกับว่าสมองมันสั่งการให้จำตรงนี้นะ ให้สังเกตนะ ผมคิดว่าถ้าใครชอบวาดการ์ตูนแล้วไม่มีเปิดผ่านหรอก จะต้องกลับมาดูเทคนิค ผมยังงงว่าบางคนอ่าน 20 เล่มวันหนึ่งจบ บ้าหรือเปล่า อ่านไปได้ยังไง ผมอ่านเป็นเดือนกว่าจะจบ ยิ่งถ้าเป็นการ์ตูนที่เกิดว่าเราชอบจะไม่ให้ผ่านง่ายๆ

0 เรียนโฆษณามาแต่ทำไมถึงอยากเป็นนักเขียนการ์ตูน?

ตอนนั้นไม่รู้ว่าเป็นเพราะอะไร อีกอย่างวิชาที่เรียนโฆษณามันยิ่งเรียนยิ่งรู้ ผมไม่ได้ด่าคนในวงการนี้นะ คือพอยิ่งเรียนผมยิ่งรู้ว่าวงการนี้เป็นแบบนี้ ลักษณะคนมันเป็นแบบนี้ ลักษณะของอาชีพนี้มันจะต้องเป็นแบบนี้ คือแก่งแย่งชิงดี อวด คุย โม้ อันนี้เป็นเรื่องจริงนะ ผมเจอเพื่อนผมมาตั้งหลายคน บางทีมันไม่ได้เก่งจริง แต่มันข่มกูอยู่นั่นแหละ ผมมองๆ แล้วไม่ชอบ ไม่ชอบวงจรนี้ ไม่ชอบวงจรชีวิตการทำงานแบบงานโฆษณา ยังไงผมก็ไม่เอา แต่มันเรียนมาแล้วไง แต่ว่ามันก็ดีเพราะมีหลายวิชาที่เอามาใช้ในการ์ตูนได้เหมือนกัน ตัดสินใจแล้วผมก็มุ่งเลยว่าจะเขียนการ์ตูนและ Thesis ก็จะทำการ์ตูน พอให้ไปฝึกงานปุ๊บ ผมไปฝึกที่ไทยคอมมิคเลย

0 ผลงานตอนนี้มีเรื่องอะไรบ้าง?

เรื่อง 'ชาวนากับงูเห่า' แต่ว่ามาเปลี่ยนชื่อเรื่องเป็น 'The farmer man' ทำที่สำนักพิมพ์วิบูลย์กิจ พิมพ์ออกมาสองเล่ม หลังจากนั้นมีการ์ตูนจากภาพยนตร์ของสหมงคลฟิล์มเรื่อง '7 ประจัญบาน' ภาค 2 ให้ 7 คนมาเขียนคนละคาแรคเตอร์เลย เล่มเดียวจบ และมีเขียนเรื่องเป็นเกมจากเกาหลี ตอนนั้นเกมออนไลน์กำลังบูมมาก 3 เล่มจบ หลังจากนั้นออกจากวิบูลย์กิจมาทำงานที่สำนักพิมพ์บันลือสาส์น เข้ามาที่นี่เรื่องแรกที่ทำคือ Super Dunker เลย

0 แรงบันดาลใจของการ์ตูนเรื่องนี้มาจากไหน?

ผมเหมือนลอยทะเลอยู่ปีหนึ่ง พอออกจากวิบูลย์กิจก็เหมือนกับว่าคว้างอยู่ ไม่ได้ทำอะไรเลย แต่ว่าเราอยู่ในวงการแล้วไง รู้จักทุกคนแล้ว รู้จักทั้งรุ่นพี่ รุ่นใหญ่ รุ่นอา เพราะพอเข้ามาในวงการนี้มันไม่ใช่ว่าจะอยู่บ้านเขียนการ์ตูนอย่างเดียว นักเขียนมันมีการทำกิจกรรมกันบ้าง ช่วงที่ผมคว้างอยู่ก็มีโอกาสได้ไปสอนและได้รู้จักนักเขียนการ์ตูนหลายๆ คน และได้รู้จักพี่ขวด ขายหัวเราะ พี่ขวดแนะนำมาที่บันลือสาส์นดูเพราะทางพี่นก-โชติกา อุตสาหจิต รองประธานกลุ่มบริษัท บันลือกรุ๊ป ก็อยากจะหาตลาดใหม่ๆ แต่ว่ายังหานักเขียนไม่ได้เลย ผมลองไปดูจากการชักนำของพี่ขวด

ผมได้เข้าไปลองงานเป็นฟรีแลนซ์ก่อน เหมือนกับว่าให้ผมไปเขียนอย่างอื่น ผมทำไม่ได้ไง พยายามแล้วแต่มันไม่ได้ เขาคงคิดว่ามันคงผลุนไม่ขึ้นถ้าให้ไปเขียนอย่างอื่น ลองทำสไตล์ของตัวเอง ตอนนั้นคุยกันพี่นกบอกว่าอยากให้เขียนเป็นคอมมิคสไตล์เรา จะเอาลง 'มหาสนุก' ผมคิดว่าเขาพูดเล่นเพราะลงมหาสนุกมันเรื่องใหญ่เลยนะ เพราะการ์ตูนของมหาสนุกมันไม่มีการ์ตูนแนวนี้เลย ไม่มีออกแนวมังงะ-คอมมิคอย่างนี้ มันเป็นการ์ตูนแก๊กหรือว่าเป็นการ์ตูนสไตล์เล่าเรื่องคนละแบบ คิดว่าคงพูดเล่น พี่นกบอกให้ลองไปคิดดู ผมกก็คิดไม่ออก ตอนนั้นมันหยุดไปนานมันคว้าง หัวสมองมันกลวงมาก เหมือนกับว่าชีวิตนี้ไม่อยากทำอะไรแล้ว มันเซ็งๆ กลวงๆ

พอได้ไปคุยกับพี่นกบอกว่าทำไมไม่ลองทำการ์ตูนกีฬาดู ชอบกีฬาอะไร ผมบอกผมชอบบาสเก็ตบอลเพราะผมเล่นบาสมาตั้งแต่เด็กๆ เขาบอกว่างั้นเธอเขียนบาสเลย ผมบอกเอาจริงเหรอพี่ เขาบอกทำเลยเธอจะมาช้าอะไร ตอนนั้นผมเริ่มคิดเรื่องแล้ว คิดเรื่องเกี่ยวกับบาสเกตบอล แต่การที่เราหยุดไปนานมันมีปัญหาเหมือนคิดช้า ทำอะไรไม่ออก จุดเริ่มต้นมันไม่มี และยังไม่คิดว่าพี่เขาจะเอาลงมหาสนุกจริงๆ ผมคิดว่าเขาพูดเพื่อให้กำลังใจเรา ซึ่งอย่างที่บอกสำหรับผมมันไม่ใช่เรื่องเล่นๆ ลงมหาสนุกมันเป็นเรื่องใหญ่เพราะของเราเป็นแนวใหม่ เขาจะยอมหรือเปล่า ถึงจะได้เนื้อเรื่องแล้วมันยังลอยอยู่ในหัวว่าจะทำยังไงดีให้สนุก โชคดีว่าผมได้พี่ๆ ช่วย

0 พอนักเขียนมาอยู่ด้วยกันไอเดียมันพรั่งพรูออกมาอย่างไม่รู้ตัว?

จากที่เราตันๆ มานานมันเหมือนเปิดก๊อกแล้วมันไหลชนิดไม่หยุดเลย คราวนี้ผมหยุดตัวเองไม่อยู่เลย พอไปคุยกับพี่นก ผมเล่าไปเลยว่าเนื้อเรื่องคือมีพ่อลูกสองคนติดเกาะอยู่ คราวนี้เหมือนกับว่ามันมีนักบาสเอ็นบีเอเพิ่งชนะการแข่งขันแล้วอยู่ดีๆ เครื่องบินตกลงมาที่เกาะ และเด็กสองพ่อลูกช่วยเอาไว้ หลังจากนั้นนักบาสเอ็นบีเอกลับบ้านไม่ได้เลยต้องมาช่วยสอนเด็กคนนี้เล่นบาส ถึงจะคุยกันไม่รู้เรื่องเลยเพราะว่ามันคุยกันคนละภาษา แต่ว่ากีฬามันทำให้สองคนนี้มันจูนเข้ากันได้ สื่อสารกันด้วยกีฬา ภาษากีฬา พอเขาฟังแล้วบอกว่ามันก็สนุกดีเนาะ เอองั้นทำเลย เขียนเสร็จจะเอาลงมหาสนุกเลย นี่เล่าเพียงแค่ตอนเดียว ถึงตอนนั้นผมก็ยังไม่เชื่อว่าการ์ตูนผมจะได้ลงมหาสนุก คือในใจผมคือไม่คิดว่าพี่นกเขาจะเอาลงมหาสนุกจริงๆ มันเป็นเรื่องใหญ่มาก

0 เรื่องนี้ต้องการจะบอกว่ากีฬาเสมือนเป็นสื่อสร้างมิตรภาพ?

ตรงนี้มันเป็นจุดสำคัญอย่างหนึ่งซึ่งผมอยากจะบอกคนอ่านว่าถึงเราจะคุยกันไม่รู้เรื่อง แต่มันมีภาษาอยู่สองอย่างที่ทั่วโลกคุยกันได้ก็คือ 'ดนตรี' กับ 'กีฬา' เอาอย่างบาสเราไปแข่งกับชาติไหนก็แล้วแต่มันอยู่บนพื้นฐานกติกาเดียวกัน มันเล่นด้วยกัน ส่วนหนึ่งเอามาจากตัวผมเหมือนกันเพราะช่วงที่อยู่พัทยาผมไปเล่นบาส ผมไปเล่นแต่กับฝรั่ง มันไม่ค่อยมีคนไทย ผมไปเล่นในฟิตเนสซึ่งคนไทยเขาจะไปเล่นอีกที่หนึ่งซึ่งมันไกลจากบ้านผม ผมเลยเล่นในฟิตเนสใกล้บ้าน และที่ผมเล่นผมเจอแต่ฝรั่ง ผมพูดกับมันไม่รู้เรื่องเลย มันมีทั้งฝรั่งเศส เยอรมัน อเมริกามาเล่น เขาก็พยายามจะคุยกับผม ผมคุยกับมันไม่รู้เรื่อง ได้แต่ทักกัน แต่พอเล่นบาสแล้วมันเหมือนสื่อสารกันได้โดยไม่ต้องคุยกัน ไม่ต้องคุยกันก็ได้ เล่นแล้วซี้กัน เล่นกีฬามันเชื่อมกัน ไม่ต้องคุยกันก็ได้ ผมว่าตรงนั้นมันสำคัญ

0 ตอนส่งไปประกวดคิดว่าจะได้รับรางวัลไหม?

ผมไม่คาดหวังเลยด้วยซ้ำว่ามันจะได้รางวัลหรืออะไรก็แล้วแต่ มันเหมือนเป็นโชคสองชั้น เราทำในสิ่งที่เรารักและสิ่งที่เรารักมันดันเราขึ้นไปในสิ่งที่เราใฝ่ฝัน เหมือนกับว่าโอ้โห..มันเป็นเรื่องจริงเหรอนี่ วันนั้นพอรู้ข่าวว่าได้รับรางวัลมันเหมือนมีความสุขที่สุดในชีวิต พอรู้ข่าวว่าได้ไปญี่ปุ่นและการ์ตูนได้รางวัล โทรบอกพ่อกับแม่ผม เพราะพ่อผมคิดว่าอาชีพนี้จะทำเอาจริงๆ จังๆ คงไม่ได้หรอก พอผมทำให้เขาเห็นว่าทำได้ ผมดีใจส่วนหนึ่งว่าสิ่งที่ทำมันทำให้ครอบครัวผมภูมิใจได้ มันหาเลี้ยงตัวเองได้และสามารถประสบความสำเร็จได้ วันนั้นผมเป็นลิงกระโดดเลย งานการไม่อยากจะทำเลย รอวันที่จะได้ไปประเทศญี่ปุ่น และมารู้ทีหลังว่าได้ที่หนึ่งผมก็ยิ่งงงเข้าไปใหญ่คือได้ไปญี่ปุ่นผมก็ดีใจแล้วไง

0 จริงๆมันมีเรื่องไม่คาดคิดหลายอย่าง?

ตั้งแต่มาอยู่บันลือสาส์นพอมันเป็นการ์ตูนกีฬา มันสามารถขอสปอนเซอร์ได้ ตอนนั้นที่ขอไปก็ไม่คิดว่าจะมีใครมาลงทุนกับการ์ตูน แต่มันดันขายได้และอะไรหลายๆ อย่างมันเข้ามาอีก เขามาสนับสนุนเรื่องเงินหรือเรื่องการรวมเล่ม สามารถผลักดันได้ง่ายกว่า พออีกปีหนึ่งส่งการ์ตูนเข้าประกวดแล้วได้รางวัลที่หนึ่งด้วย เหมือนได้ 3 ขั้น คือได้เขียนลงมหาสนุกมันคือสุดยอดของผมแล้ว ได้สปอนเซอร์สนับสนุนก็สุดๆ ของผมอีกอย่างหนึ่งแล้ว และพอมาได้รางวัลที่หนึ่งอีกมันก็เหมือนกับว่ามันที่สุดแบบสุดโต่งแล้ว ผมไม่คิดเลยว่าจะได้รางวัลและรางวัลมันไม่ใช่กะโหลกกะลา แต่เป็นประเทศญี่ปุ่นที่เขาเป็นเจ้าของการ์ตูนเลย ในโลกนี้เขาเป็นอันดับหนึ่ง และเขาจัดเป็นรางวัลนานาชาติ อันนี้ไม่รวมของญี่ปุ่นด้วย

0 คิดว่าทำไมคณะกรรมการถึงตัดสินให้ผลงานของเราให้ได้รับรางวัลนี้?

อันนี้แหละผมสงสัยอยู่ แต่ที่เขาออกสื่อสัมภาษณ์มาเหมือนกับว่าการ์ตูนของเรามันไปสร้างแรงบันดาลใจให้กับเด็กๆ ฝ่าฟันอุปสรรค และกรรมการที่ตัดสินเขาตัดสินผิดพลาดหรือเปล่า (หัวเราะ) เพราะกรรมการก็เป็นระดับมืออาชีพนักเขียนการ์ตูนเลย แต่ละคนบรมจารย์เป็นเซียนของญี่ปุ่นยุคแรกๆ เลย และมีบรรณาธิการของสองสำนักพิมพ์มาตัดสิน คือเขาไม่ได้เอากะโหลกะลาเอาคณะรัฐมนตรีมาตัดสิน เขาเอาคนที่อยู่ในวงการตัวจริงมาตัดสินให้เราได้ที่หนึ่ง ผมว่ามันคือที่สุดของเราแล้วล่ะ อันนี้ไม่พูดเรื่องเงินนะ พูดถึงเรื่องกล่อง

ตอนไปญี่ปุ่นเขาพาไปแต่ละที่นี่เราไม่คิดเลยว่าจะได้ไปเหยียบ อย่างพิพิธภัณฑ์มังงะเป็นพิพิธภัณฑ์ที่รวบรวมการ์ตูนทุกสำนักพิมพ์ของญี่ปุ่นเลยและของทั่วโลกก็มีเหมือนกัน พาไปมหาวิทยาลัยที่เปิดสอนคณะมังงะ ปริญญาตรีสาขามังงะ เป็นที่เดียวและที่แรกที่สอนเขียนการ์ตูนโดยเฉพาะ เราได้ไปเหยียบที่นั่น ไปดูเด็กวาดการ์ตูน ผมไปเห็นแล้วขนลุกเลย ห้องเบ้อเร่อ เด็กปีหนึ่งเรียนกันเกือบๆ 40-50 คน และแต่ละคนมีความสุขมาก วันๆ วาดการ์ตูนอย่างเดียว และเรียนจบแล้วได้ปริญญา ทำไมประเทศเราไม่มีอย่างนี้ และเด็กๆ เขามีความสุขจริงๆ พอเขาจบมาเขาก็ไปเป็นลูกมือนักเขียนใหญ่ๆ พอถึงเวลาเขาก็สามารถดันตัวเองไปเป็นนักเขียนการ์ตูนได้ ประเทศญี่ปุ่นอาชีพนักเขียนการ์ตูนมันกลายเป็นอาชีพที่ได้รับการยอมรับชนิดที่สุดๆ เขาถึงสามารถเปิดตรงนี้ได้

0 เมื่อไปเห็นวงการการ์ตูนญี่ปุ่นแล้วมองกลับมาวงการการ์ตูนไทยรู้สึกอย่างไรบ้าง?

มันเป็นเรื่องเศร้า มันต้องเปลี่ยนมุมมองคนให้ได้ก่อนไม่ว่าจะเป็นมุมมองของผู้ปกครอง มุมมองของผู้ใหญ่ในรัฐบาล มุมมองของประชาชนทั่วไปที่มองการ์ตูน ผมพูดถึงญี่ปุ่นก่อนแล้วกัน การ์ตูนของเขาไม่ใช่เรื่องของเด็ก ความหมายของคำว่าการ์ตูนของประเทศญี่ปุ่นมันคือวัฒนธรรม มันคือสิ่งที่ทุกคนจับต้องได้ไม่ใช่แค่เด็ก และการ์ตูนเขามีหลายประเภท เขาจะแบ่งเรทชัดเจนเลยว่าการ์ตูนนี้เป็นการ์ตูนสำหรับเด็ก การ์ตูนเด็กผู้ชาย การ์ตูนเด็กผู้หญิง การ์ตูนสำหรับเด็กโตหน่อย การ์ตูนสำหรับผู้ใหญ่ คือการ์ตูนของญี่ปุ่นสร้างชาติ สร้างวัฒนธรรม สร้างระเบียบขึ้นมาได้ เป็นเรื่องน่าอิจฉามาก

เขาไม่ได้มองการ์ตูนเป็นเรื่องของเด็ก เขามองการ์ตูนเป็นเรื่องของวัฒนธรรม ทุกคนสามารถสามารถเสพการ์ตูนในวัยของตัวเองได้ กลายเป็นว่าทั้งประเทศเขาอ่านการ์ตูนหมดทุกคน บ้านเราพูดถึงการ์ตูนปุ๊บนึกถึงเด็กอย่างเดียว พอมีการ์ตูนที่เป็นแนวผู้ใหญ่ขึ้นมา บางทีมันมีการ์ตูนที่มีฉากวาบหวิว ฉากโป๊เปลือยซึ่งตรงนั้นเขาไม่ได้ทำมาให้เด็กอ่านอยู่แล้ว มันทำมาให้คนอีกกลุ่มหนึ่งอ่าน เหมือนภาพยนตร์มันก็มีได้ แต่พอมาเป็นการ์ตูนผู้ใหญ่จะมองเป็นเรื่องของเด็ก พอมีพวกนี้ขึ้นมาก็ตัดโอกาสตัดเซ็นเซอร์ไปเลย ทำให้คนที่อยากทำการ์ตูนแนวผู้ใหญ่หรือว่าเป็นการ์ตูนที่เป็นอีกแนวหนึ่งทำไม่ได้ กลายเป็นข้อจำกัดว่าการ์ตูนทุกวันนี้ถ้ามองในตลาดทุกวันนี้จะมีแต่การ์ตูนความรู้ การ์ตูนกลายเป็นเรื่องของเด็ก

ถ้าบ้านเรายังไม่สามารถแยกแยะออก การ์ตูนจะไม่สามารถเกิดขึ้นมาได้อย่างแน่นอน อันนี้เป็นเรื่องที่น่าเศร้า 0

ขอบคุณข้อมูลจาก กรุงเทพธุรกิจ

Leave a Reply